IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น  >  เล่าเรื่องเมืองตรัง โดย อาจารย์สุพรรณ วังกุลางกูร

เล่าเรื่องเมืองตรัง โดย อาจารย์สุพรรณ วังกุลางกูร

จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ ด้านฝั่งทะเลอันดามัน ที่ตั้งตามพิกัดทางภูมิศาสตร์ เส้นแวงที่ 99 องศา 37 ลิปดาตะวันออก เส้นรุ้งที่ 7 องศา 34 ลิปดาเหนือ แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ 87 ตำบล 711 หมู่บ้าน  ประชากร 579,361 คน  มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน แต่เนื่องจาก ตรังไม่ได้เป็นเมืองรับทัพจับศึก จึงไม่ค่อยมีชื่อในทางประวัติศาสตร์เท่าใดนัก แต่ที่จริงตรังเป็นชุมชนมานานแล้ว มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ เป็นต้นมา

 

 

เพื่อความเข้าใจประวัติความเป็นมาของตรัง ขอแบ่งยุค หรือสมัยของตรัง เทียบเคียงกับยุคของประวัติศาสตร์ไทย ดังนี้

1.      ชุมชนตรังในยุคหินใหม่

2.      ชุมชนตรังยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทย

3.      ชุมชนตรังยุคสุโขทัย

4.      เมืองตรัง สมัยกรุงศรีอยุธยา

5.      เมืองตรัง สมัยกรุงธนบุรี

6.      เมืองตรัง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

7.      เมืองตรัง สมัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

8.      เมืองตรัง สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

9.      เมืองตรัง สมัยหลังพระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) หรือ

เมืองตรังปัจจุบัน

 

1.      ชุมชนตรังในยุคหินใหม่

จากการสำรวจหลักฐานทั้งการไปดูหลักฐานชั้นต้น และชั้นรอง    แสดงให้เห็นว่าชุมชนตรังใน

ยุคหินใหม่นั้นมีการตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งกันแล้ว มีอารยธรรมร่องรอยการดำเนินชีวิตอย่างเด่นชัด เช่น ขวานหินขัด มีอยู่กระจัดกระจายหลายท้องที่ หม้อสามขาดินเผาพบในถ้ำท้องที่อำเภอห้วยยอด เขาปินะ โครงกระดูกมนุษย์ที่ถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาพระ เขาโต๊ะแหนะ หาดเจ้าไหม และพบร่องรอยการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์โบราณ เช่น ซากหอยขมและถ้ำแกลบที่เขาปินะ รอยจารึกที่ถ้ำเขาสามบาตร  ภาพเขียนสีในถ้ำตรา ปากแจ่ม เป็นต้น

2.      ชุมชนตรังยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทย

จากจดหมายเหตุของปโตเลมี ซึ่งบันทึกตามคำบอกเล่าของนักเดินเรือชาวกรีก ชื่ออเล็กซานเดอร์

ซึ่งเดินทางเข้ามาในพุทธศตวรรษที่ 7 กล่าวถึงเมือง ตะโกลา เอาไว้ว่า เป็นเมืองท่าของสุวรรณภูมิหรือเมืองไครเสาเซอร์โสเนโสส ซึ่งมีอ้างไว้ในหนังสือมิลินทปัญญา ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 5 เรียกว่า  เมือง ตกโกล ซึ่งนักโบราณคดีต่างลงความเห็นว่า คือ เมืองตไลตตกโกล  ซึ่งกล่าวในจารึกของพวก ตนโจร ของพระเจ้าราเชนทร ที่ 1

            ถ้าเมืองท่าตะโกลา ตั้งแถบเมืองตรังแล้ว ก็จะได้ข้อสรุปสนับสนุนดังนี้

            (1) ข้อเขียนของเลอเมย์ ผู้เขียนวัฒนธรรมเอเซียอาคเนย์ เขียนถึงตะโกลาไว้ดังนี้  “สถานที่แห่งนี้อาจหมายถึงเมืองตรัง เพราะท้องที่เขตอำเภอปะเหลียน และอำเภอกันตังมีอาณาเขตตกทะเลหน้านอกในมหาสมุทรอินเดีย เป็นที่จอดเรือได้ดีกว่า”

            (2) จากจดหมายเหตุของปโตเลมี เขียนถึงตะโกลาไว้ ดังนี้ “เมื่อพ้นประเทศอาจิราเลียบฝั่งลงไปเรื่อย ๆ ถึงแหลมเบซิงงาในอ่าวซาราแบก (เขตจังหวัดพังงาในปัจจุบัน)       เมื่อพ้นจากนั้นก็เข้าเขตที่ อเล็กซานเดอร์ นักเดินเรือชาวกรีก เรียกว่า เมืองทองแล้วก็ถึงเมืองตะโกลา ใต้เมืองพังงาน ลงมาที่เป็นเมืองท่าสำคัญ เห็นจะมีแต่เมืองตรังเท่านั้นที่เป็นเมืองท่าเรือ

            (3) ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ การเดินเรือในเขตมรสุมนั้น ซึ่ง ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐ ให้ความเห็นไว้ว่า ถ้าจะเดินทางจากลังกา หรืออินเดียตอนใต้      ถ้ามุ่งตรงมายังแหลมทองทีเดียวก็สามารถตั้งหางเสือของเรือแล้วตัดตรงมา อิทธิพลของลมมรสุมด้านตะวันตกเฉียงใต้  จะนำเรือเข้าฝั่งแหลมทอง บริเวณละติจูดที่ 7 องศาเหนือ ซึ่งจะตัดตรงเข้าเขตเมืองตรังพอดี ซึ่งหลักฐานการติดต่อจากอินเดียและลังกา มีการสืบทอดมาทุกสมัย กระทั่งช่วงรัตนโกสินทร์ ก็ยังใช้เมืองตรัง ติดต่อค้าขายกับอินเดีย และลังกาอยู่

            (4) ตามลักษณะภูมิศาสตร์ กล่าวถึงเส้นทางการติดต่อค้าขายข้ามแหลมทอง ระหว่างฝั่งด้านตะวันตกและฝั่งตะวันออกนั้น เส้นทางที่ใช้ขนถ่ายสินค้าจากเมืองตะโกลา ไปยังชายฝั่งด้านอ่าวไทย ถ้าเป็นเส้นทางตะกั่วไปไปยังอ่าวบ้านดอน (สุรษฏร์ธานี) นั้น คุณมานิต วัลสิโภดม ให้ความเห็นว่า “ทางข้ามเขาสก นั้น ไม่น่าจะเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้า ข้ามปลายแหลมทอง แต่เป็นเส้นทางเดินลัดข้ามแดนเท่านั้น (เส้นทางเขาสกสูงชัน) “ และยังได้กล่าวถึงเส้นทางคมนาคมจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก คือ จากเมืองตรัง สามารถติดต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยก่อน โดยการล่องเรือขึ้นไปตามลำน้ำตรัง ขึ้นบก ที่ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง และเดินบกไปยังนครศรีธรรมราช หรือ ถ้าจะไปยังสุราษฏร์ธานี ก็เดินทางต่อเข้าคลองสินปน ในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ แล้วต่อเข้าแม่น้ำตาปี (แม่น้ำหลวง) ไปออกอ่าวบ้านดอน (สุราษฏร์ธานี)  ฝั่งอ่าวไทยได้

            เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลง สถานที่ตั้งเมืองจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย     แต่จะใช้ลำน้ำเป็นหลัก เพื่อความสะดวกในการคมนาคม และพื้นที่ทางเกษตร ประกอบกับเมืองตรัง ไม่ได้เป็นเมืองหน้าด่านในการรบทัพจับศึก จึงไม่มีการก่อสร้างกำแพงเมืองที่มั่นคงไว้เป็นหลักฐาน คงย้ายตามผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปกครองชุมชน อยู่ ณ ที่ใดก็จัดเป็นเมือง แม้กระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้นก็ยังใช้วิธีการนี้อยู่ยกเว้นเมืองเอก หรือเมืองโท เท่านั้น ที่มีหลักฐานเป็นเมืองที่แน่นอนแล้ว

            เมืองตรังที่คิดว่าน่าจะเป็นเมืองตะโกลา นั้น ซึ่งมีการย้ายเมืองบ่อยครั้ง ตัวที่เป็นที่ตั้งเมืองเดิมน่าจะเป็นแถบบ้านกรุงธา หรือ บ้านซ่า เพราะจากที่นั้นสามารถเดินบกไป ลงคลองสินปุน เป็นระยะทางใกล้มาก โดยตัดทางเขาหน้าแดง จะลงคลองสินปุน สะดวก      ซึ่งคุณมานิต วัลสิโภคม ได้เขียนตรวจสอบเส้นทางการย้ายเมืองตรังไว้ ดังนี้

            “เหนือเขาปินะขึ้นไประยะหนึ่ง มีปากคลอง อยู่ตรงข้ามปากคลองกะปางหรือเรียกว่า ปากสม บริเวณนั้น เรียกว่า บ้านกรุงธา หรือบ้านซา”  เรียกว่า ตรัง 1 ก็ได้ เพราะมีร่องรอยของความเจริญรุ่งเรือของชุมชน เมืองอยู่ใกล้ ๆ มีประติมากรรมและโบราณวัตถุมากมายที่ วัดถ้ำพระพุทธ และมีหลักฐานทางโบราณคดี จารึก เยธมมา ที่ใต้ฐานพระพุทธรูป         นอกจากนั้นยังมีวัดใหญ่ ถึงสามวัดอยู่ใกล้กัน คือ วัดคีรีวิหาร  วัดหูแกง วัดย่านเกรื่อน โดยเฉพาะวัดย่านเกรื่อน เป็นวัดร้าง มีวัดนอก และวัดใน   อาณาเขตติดแม่น้ำตรัง เคยขุดพบพระทองคำ และยังมีหลักศิลาปักแสดงแนวเขตอุโบสถ แบบลังกา ทั้งสี่ทิศ มีใบเสมา และเสาหงส์ ปรากฏอยู่  วัดคีรีวิหาร มีพระบรรทมและพระพุทธรูปโบราณอยู่ในถ้ำ และยังพบพระพิมพ์ดิน ดิน (พระผีทำ) อีกด้วย  วัดหูแกง มีพระพุทธรูปในถ้ำแต่ถูกทำลายลงไปแล้ว มีแต่อิฐ มีเสาหงส์ ปรากฏอยู่ ที่เขารายใกล้วัดหูแกงได้พบพระผีทำหลายพิมพ์       แสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนที่เป็นเมืองใหญ่ มีความเจริญมาก่อน มิฉะนั้นจะดูแลวัดใหญ่ๆ ดังกล่าวได้อย่างไร

 

3.      เมืองตรังยุคสุโขทัย

จากตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง พญาโคสีหราช (สิงหราชราชา) ได้รับส่วน

แบ่งพระทันตธาตุ  ของพระพุทธเจ้า ท้าวอังกุราช ทราบข่าวได้ยกกองทัพมาขอส่วนแบ่ง หากไม่ได้จะต้องทำสงครามกัน  สิงหราชราชาแต่งกองทัพออกรับทัพข้าศึก และได้เรียกโอรสธิดา พระธนกุมารและนางเหมชาลา  มาสั่งเสีย หาก พระบิดาเพลียงพล้ำต่อข้าศึกให้นำพระทันตธาตุหนีไปยังลังกาให้ได้ ปรากฏว่าพระบิดาเสียที่ต่อข้าศึก สิ้นพระชนม์ในที่รบ โอรสธิดา ทั้งสองจึงนำพระทันตธาตุลงเรือหนีไป แต่เรือถูกพายุพัดเรือแตก ก่อนถึงลังกาพระธนกุมาร แนะนางเหมชาลา ถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งได้ และได้รับความช่วยเหลือ เดินบกจนถึงหาดทรายแก้ว ได้ฝังพระทันตธาตุไว้ที่หาดทรายแก้ว เกิดเหตุอัศจรรย์ให้ พระมหาเถระพรหมเทพ มาพบเข้า และทำนายไว้ว่า พระจ้าศรีธรรมาโศกราช จะมาสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้วนี้  จึงช่วยเหลือให้โอรสธิดาทั้งสอง นำพระทันตธาตุเดินทางมาถึงเมืองตรัง ลงเรือเดินทางไปลังกาได้สำเร็จ

            ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศก มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาก  จึงได้มาสร้างเมือง ณ สถานที่เคยฝังพระทันตธาตและบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ ประมาณ ปี 1098 และได้สร้างเป็นเมือง ตามพรสิงค์ ขึ้น ซึ่งรู้จักกันในสามเมืองศิริธรรมนคร หรือนครศรีธรรมราช มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ เข้ามาสู่ประเทศไทย ระหว่างลังกากับประเทศไทยได้มากขึ้น จนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า เมืองพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ พ่อขุนรามคำแหง  มีความศรัทธาได้ส่งสมณทูตไปสืบพระศาสนา

 

ศึกษาพระไตรปฎก ยังเมืองนครศรีธรรมราช บังเอิญขณะนั้น นางเลือดขาวและพระกุมาร ผู้สร้างเมืองพัทลุง มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเดินทางเข้าเขามายังเมืองตรัง เมื่อทราบว่าสมณทูต สุโขทัย และนครศรีธรรมราช จะเดินทางไปสืบพระศาสนายังลังกา ก็ได้ลงเรือที่ตรัง     เดินทางไปด้วย ขากลับ นางเลือดขาวและพระกุมารได้นำพระพุทธสิหิงค์ มาด้วยและได้ประดิษฐานไว้ที่วัดพระพุทธสิหิงค์ โดยให้ช่างจำลองแบบเป็นพระประธาน และสร้างวัดขึ้น วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ขึ้นทะเบียนวัดหมายเลข 2 ของตรังชื่อว่าวัดพระพุทธสิหิงค์  พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้สร้างและจัดการปกครอง เมืองนครศรีธรรมราช ให้เป็นปึกแผ่น เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ได้แบ่งการปกครองหัวเมือง ออกเป็นนักษัตร เรียกว่า เมือง 12 นักษัตร ซึ่งกำหนดตราประจำเมือง ไว้ดังนี้

            เมืองสายบุรี        ตราชวด                                     เมืองตรัง            ตรามะเมีย

            เมืองปัตตานี       ตราฉลู                                       เมืองชุมพร         ตรามะแม

            เมืองกลันตัน      ตราขาล                                     เมืองบัณทายสมอ  ตราวอก

            เมืองปาหัง         ตราเถาะ                                    เมืองสระอุเลา     ตราระกา

            เมืองไทรบุรี        ตรามะโรง                                  เมืองตะกั่วป่า      ตราจอ

            เมืองพัทลุง         ตรามะเส็ง                                  เมืองกระบุรี        ตรากุน

            เมืองตรังได้ปรากฎ อยู่ในหัวเมือง 12 นักษัตร ภายใต้การปกครองของนครศรีธรรมราช แล้ว เป็นเมืองท่า ทัพเรือ และเมืองปืน ของนครศรีธรรมราช ด้านฝั่งทะเลอันดามัน  คู่กับเมืองท่าในฝั่งอ่าวไทย คือ เมืองท่าทอง

 

4.      เมืองตรังในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงที่พระเจ้าอู่ทองครองราชย์อยู่ที่กรุงศรีอยุธยานั้นเมืองตรัง เป็นเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราช

ซึ่งเป็นรัฐอิสระ พระเจ้าจันทรภานุแห่งราชวงค์ปทุมวงศ์ ของ อาณาจักรศรีธรรมาโศกราช      และพระเจ้าอู่ทองนั้น ยังรบกัน เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในเผ่าไทย เหนือ กลาง และใต้      จนกระทั่งหย่าศึกกันที่บางสะพาน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ในปัจจุบัน เนื่องจากอยุธยานั้นมีศึกกับทางเหนือ และกัมพูชา   ส่วนศรีธรรมาโศกราช มีศึกกับชวา แต่ต่อมาอาณาจักรศรีธรรมาโศกราชก็เป็นหัวเมืองเอกของอยุธยา ทางฝ่ายใต้ ในการรบไทย ทำเนียบศักดินาของพระธรรมนูญปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ ในสมัยของสมเด็จพระบรมไชยโลกนาถ ซึ่งมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เมื่อผู้สำเร็จราชการปอร์ตุเกส คือ อัลฟองโส เดออัลบุร์เคอ ได้ยกทัพเรือมาตีมะละกา ในสมัยที่สุลต่านมูร์ ซัมฟาร์ ปกครอง เพื่อแย่งชิงผลประโยชนท่าเทียบเรือกับฮอลันดา ต่อมาเมื่อทราบว่าเป็นเมืองขึ้นของไทย ก็ได้ส่ง อาซเวโด เดินทางจากมะละกา ขึ้นบกที่เมืองตรัง และเดินทางต่อด้วยม้า และเกวียน ไปยังนครศรีธรรมราช แล้ว ลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา โดยนำสาส์นไปขอโทษไทย พร้อมกับปืนไฟ 300 กระบอก ในปี  2054 ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ชื่อเมืองตรัง จึงได้ปรากฏในประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก

 

 

            เมืองตรัง ในช่วงนี้เข้าใจว่า ยังอยู่ในท้องที่อำเภอห้วยยอด ที่กรุงธา หรือบ้านซ่า ยุคตรัง 1 เพราะบางส่วนจากหลักฐานได้พบพระตอกแผ่นเงินเหมือนกับที่อยุธยานิยมนำพระตอกแผ่นเงิน แผ่นทอง และจากหลักฐานที่เป็นตำนานเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยบุรณะพระธาตุนครศรีธรรมราช     ได้กล่าวถึงเมืองตรังไว้ว่า “ด้านทิศอุดรไป ได้แก่ ขุนแปดสัน เจ้าเมืองตรัง 8 วา”  ให้หัวเมืองต่างๆ ในความปกคอรงมาช่วยทำกำแพงล้อมพระธาตุนครศรีธรรมราช รวมทั้งเมืองตรังด้วย  แสดงว่าอำนาจการปกครองจากส่วนกลางยังไปไม่ถึงปล่อยให้นครศรีธรรมราช กำกับดูแลปกครองเอง ซึ่งอาจจะเป็นยุคต้น ๆ ของอยุธยา ตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นขุน (ศักดินา 800 ) เป็นการกำหนดทำเนียบศักดินาของพระธรรมนูญการปกครองของสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

            ในสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยานั้น มีหลักฐานอ้างอิงถึงเมืองตรังไว้ดังนี้

            เมื่อครั้งกรุงเก่าในแผ่นดิน เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นพระยาราชสุภาวดี มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โปรดให้หลวงนายสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก (หนู) มาเป็นปลัดเมืองในครั้งนั้น เมืองนครศรีธรรมราช อยู่ในฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ในภาคใต้ของประเทศไทย

            ครั้นเมื่อกองทัพพม่าตีรุกมาใกล้กรุงศรีอยุธยา ในปลายรัชกาล สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ มีพระราชโองการให้พระยานครศรีธรรมราช เข้ามาทำการต่อสู้พม่า อยู่ในบริเวณหัวเมืองชั้นใน ส่วนเมืองนครศรีธรรมราช จะสู้รบพม่าจนตัวตาย หรืออย่างไรไม่แน่แต่ใด คราวกรุงเก่าแตก พ.ศ. 2310 ปรากฏว่า พระยานครศรีธรรมราชหาตัวไม่แล้ว กรมการและชาวนครศรีธรรมราชพร้อมใจกับยกปลัดเมืองขึ้นเป็นกษัตริย์ครองนครศรีธรรมราช ตั้งเป็นอิสระ อยู่แคว้นหนึ่ง มีอาณาเขตตั้งแต่ชุมพรถึงแหลมมาลายู มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นกับเจ้านคร (หนู) รวมทั้งเมืองตรังด้วย ตั้งเป็นชุมนุมนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งใน 5 ชุมนุม หลังกรุงแตก

 

5.      เมืองตรังสมัยกรุงธนบุรี

เมื่อพระเจ้าตากสินตีชุมนุมต่างๆ ได้หมดแล้ว จึงได้ยกทัพมา ในปี 2312 ตีชุมนุมนครศรีธรรมราช 
เป็นชุมนุมสุดท้าย โดยเสด็จมาทางเรือและทางบก ตีได้โดยง่าย เพราะเจ้านคร (หยู) ไม่คิดต่อสู้ อพยพหนีไปอยู่ปัตตานี กองทัพกรุงธนบุรีตามจับมาได้ ยอมสวามิภักดิ์ ไม่มีอาการกระด้างกระเดื่อง จึงพระราชทานอภัยโทษ โปรดให้เข้ามารับราชการในกรุง สำหรับเจ้านครให้คงเรียกเจ้านครอยู่ตามเดิม และให้ยกนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราช ปกครองปัตตานี ไทรบุรี (ต่อมา ตรังกานูด้วย) ตลอดถึงหัวเมืองชายทะเลหน้านอกทั้งหมด(ฝั่งอันดามัน)ให้เร่งขุดชำระคลองท่าขาม เป็นทางเรือไปออกทะเลหน้านอก โดยเร็ว
                เมื่อกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว   อำนาจของเมืองนครศรีธรรามราชก็ลดลงกว่าเดิม ให้เจ้านคร (หนู) ปกครองแต่เพียงหัวเมืองเท่านั้น เพราะได้โปรดเกล้า ยกเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชเมืองอื่น ๆ คือ ไชยา พัทลุง ถลาง  ชุมพร มาขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี  ในปี พ.ศ. 2319 และ ให้แยกเมืองสงขลา ออกจากนครศรีธรรมราช ขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี หัวเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนั้น จึงมีแต่เมืองตรัง       และเมืองท่าทอง ซึ่งเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันตก และฝั่งทะเลตะวันออก เท่านั้น

 

 

6.      เมืองตรังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น

หลังจากที่พระภักดีบริรักษ์  ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช หลานพระยานคร (พัฒน์) ออก

มารักษาเมืองตรัง ดังปรากฏในเพลงยาวนิราศพระยาตรัง เข้าใจว่า ชื่อ จันทร์   ซึ่งออกมาเป็นพระยาตรังคภูมาภิบาล (จันทร์) หรือพระยาตรัง (ศรีไหน ) ที่เก่งทางโคลงฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นกวีโวหาร พระยาตรัง (ศรีไหน) ได้กราบทูลขอยกเมืองตรัง และเมืองภูรา รวมกันเป็นเมืองตรังภูรา สมัยเมืองตรัง และเมืองภูรา ตั้งอยู่กันคนละฟากแม่น้ำตรัง มีคลองลำภูราไหลมารบรรจบกับแม่น้ำตรัง เป็นชุมทางการคมนาคม ขนสินค้าทางน้ำที่สะดวก มีชุมชนโบราณ ปรากฏภาพเขียนสีที่ถ้ำตรา ทางไปปากแจ่ม คุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ได้อธิบายภาพนี้ว่า เป็นสุริยจักรวาล        ใต้ปากคลองลำภูรา  ลงมามีชุมชนบ้านอู่ตะเภา พบร่องรอยการต่อเรือรบเรือสินค้า  เนื่องจากสมัยกรุงธนบุรี ยังมีศึกอยู่กับพม่า เมืองตรัง เป็นเมืองท่า ออกทะเลหน้านอกของนครศรีธรรมราช ในการดูแลเมืองไทร และหัวเมืองฝั่งตะวันตกอื่นๆ ได้เหมาะสม สมัยพระยานครน้อย ออกปรับปรุงเมืองตรัง  ตรังมีกองเรือรบและเรืออื่นๆ ถึง 300 ลำ

            พระยาตรัง (ศรีไหน) ได้วางตราเป็นเจ้าเมืองตรังแล้ว แต่ตั้งยังตามเสด็จสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไปตีทวายอยู่ไม่ได้ ไปอยู่ที่เมืองตรังไม่ จึงได้แต่งนิราศตามเสด็จลำนำน้อย และเพลงยาวนิราศพระยาตรัง เมืองคราวไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง พระยานครจึงรับผิดชอบดูแล ภรรยาคนที่ 3 พระยาตรัง (ศรีไหน) ซึ่งพำพักอยู่ที่ตรัง ถูกชายชูเอาไป และได้เขียนบทกลอนท้าทายไว้ที่ประตูห้องว่า เราไม่ดี เราไม่พานารีจร  ข้ามห้วยสิงขร ชง่อนผา พระยาตรังทราบข่าว กลับมาเห็นบทกลอน โกรธมาก และเขียนกลอนไปว่า เราไม่เก่งเราไม่พานารีกลับ  จะเฆี่ยนพ่อให้มันเลวด้วยหวาย แล้วตามหาภรรยาและชายชู้จนพบ นำมาเฆี่ยน แล้วใช้ไม้ไผ่ตงทั้งลำคีบเป็นตับปลาย่างไฟจนตาย ขุดหลุมฝัง แล้วให้ช้างเหยียบที่บริเวณ วัดควนธานี พระยาตรังจึงต้องโทษถูกถอดออกจากพระยาตรัง ให้กลับไปรับราชการต่อที่กรุงเทพ แสดงว่าเมืองตรังภูรา เมื่อพระยาตรัง (ศรีไหน) รวมเป็นเมืองเดียวกันแล้วก็ไม่ได้ตั้งอยู่นาน เนื่องจากสถานที่ไม่เหมาะสม ไม่มีที่ราบในการทำนา จึงได้ย้าย (บ้านเจ้าเมือง)ไปตั้งที่ อู่ตะเภา ชื่อ บ้านนาแขก เพื่อต่อเรือ และทำนา  แต่ปรากฏว่า บ้านนาแขกเป็นที่ราบลุ่มเกินไป มีน้ำท่วมขังปีละหลาย ๆ เดือน ไม่เหมาะสมแก่การตั้งเมืองขยายเมืองให้เจริญเติบโตขึ้นได้ จึงหาที่สูงเป็นที่ตั้งเมือง จังได้ย้ายไปตั้งที่ควนธานี เพราะใต้บ้านนาแขกลงไปทางใต้มีแต่ควนธานีเท่านั้นที่เป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง พระยาตรัง (ศรีไหน) จึงต้องโทษที่  ควนธานี โดยที่ยังไม่ได้พัฒนาเมืองโต๊ะปังกะหวา  ผู้รักษาเกาะลิบง หรือพระยาลิบง      ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาเมืองตรัง บ้านเจ้าเมือง จึงตั้งอยู่ที่เกาะลิบง แต่เมืองที่ควนธานีไม่ได้ย้ายไป  ช่วงเวลารักษาเมืองของพระยาลิบง เจ้าเมืองเกิดขัดใจกับพระยานคร (พัฒน์)  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพ เสียชั่วคราว        ในปี  2347 พระยาลิบงถึงแก่กรรม จึงโปรดให้หลวงฤทธิสงครามบุตรเขย พระยาลิบงเป็นผู้รักษาเมืองตรังแทน  แต่หลวงฤทธิสงคราม ไม่สันทัดในการบริหารบ้านเมือง    จึงให้เมืองตรังขึ้นต่อสงขลาให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ช่วยเหลือดูแลหลวงฤทธิสงครามปกครองเมืองตรัง ต่อไป

            ในปี 2345 พระยานคร (พัฒน์) ลาออกจากตำแหน่ง ทางกรุงเทพได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง ให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ผู้ช่วยราชการเมืองนครเป็นพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป ต่อมาพระยาสงขลา  และหลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรม และเกิดศึกพม่ายกมาตีถลาง    จึงเห็นว่าไม่มีหัวเมืองใดเหมาะสมในการดูแลหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกได้ดีเท่ากับนครศรีธรรมราช

จึงโปรดเกล้าให้เมืองตรังกลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม   พระยานครน้อยจึงออกปรับปรุงเมืองตรังด้วยตนเอง และกราบทูลไปยังราชธานีเพื่อให้โปรดเกล้าบุตรคนหนึ่งออกไปรักษาเมืองตรัง คือ พระอุไทยธานี (ม่วง) ในปี พ.ศ. 2354 และเจ้าเมืองคนนี้ เป็นผู้สร้างหลักเมืองตรัง ที่ควนธานี

            ในปี 2330 หลังสงครามพม่า ซึ่งยกทัพมาตีถลาง คุณหญิงจัน ได้ต่อสู้พม่า มีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณหญิงมุก น้องสาว เป็นท้าวศรีสุนทร จะเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่กรุงเทพ จึงได้มีหนังสือถึงพระยาราชกัปตัน ที่ปีนัง ขอซื้อสิ่งของต่าง ๆ เพื่อ นำไปถวายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่กรุงเทพ แต่จะมาทางตรัง แสดงว่า ปี 2330 นั้น เมืองตรังภูราได้แยกกันแล้ว คำว่าภูรา หายไป   แสดงว่าเมืองตรังได้มาตั้งที่ควนธานี แล้ว ในยุคของพระยาตรัง (ศรีไหน) แต่มาปักหลักเมืองในปี 2354 สมัยของพระอุไทยราชธานี (ม่วง) เมืองตรัง ที่คุณหญิงจัน กล่าวถึง คือ เมืองตรังที่ควนธานี  หลังจากนั้น เมืองตรังมีความเจริญมากเพราะมีสินค้าที่ชาวต่างประเทศต้องการคือ ช้าง มีเรือกำปั่น มาซื้อช้าง 2 ลำ และพระนคร (น้อย) ได้แต่งกำปั่นหลวงอีก 1 ลำ รวม 3 ลำ  บรรทุกช้างไปขายมากกว่า 60 เชือก         พระอุไทยราชธานี ปกครองเมืองตรัง อยู่ได้ถึงปี 2355  ก็มีเรื่องถูกถอดออกจากเจ้าเมือง พระยาตรังค์ นาแขก (บุตรพระยาตรังศรีไหน)  ปกครองต่อ  มีเหตุการณ์ สำคัญ 2 เรื่อง  คือ การเจราความเมืองกับอังกฤษที่ตรัง เนื่องจากเจ้าพระยาไทยบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปถึงอังกฤษที่ปีนัง เจ้าพระยานคร (น้อย) ขอต่อผู้ว่าอังกฤษที่ปีนัง ไม่เป็นเหตุให้เกิดขัดใจกัน ระหว่างไทยกับอังกฤษ

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2367 ผู้ว่าราชการอังกฤษที่ปีนัง ได้ส่งร้อยเอก เจมสโลว์ เดินทางมาขึ้นบกที่ตรัง ขณะนั้นปีนัง ถูกอังกฤษขอเช่าจากพระยาไทรบุรี โดยพลการไทยไม่รู้เรื่อง จึงบาดหมางกัน และยังมาขอให้ไทย ช่วยอังกฤษรบพม่า พระยานคร (น้อย) ทราบเรื่องจากพระเสน่หามนตรี จึงได้ไปพบอังกฤษที่ตรัง จึงมีใบบอกไปยังราชธานี ไม่ยอมตอบอังกฤษ จนกระทั่งอังกฤษส่งร้อยเอกเฮนรี่เบอร์นีมาเจรจาที่กรุงเทพ สมัยรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นพระยานคร (น้อย)  ชุมนุมทัพ ที่ตรัง เพื่อยกไปตี เประและสลังงอ อังกฤษเกรงว่าถ้าตีได้ จะกระทบกระเทือนถึงการค้าของอังกฤษ จึงส่งเรือปืนมาปิดปากอ่าวเมืองตรัง

            ในปี พ.ศ. 2381 กรุงเทพได้จัดงานถวายพระเพลิงศพพระสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 3 พระยาสงขลา พระยานคร (น้อย) เดินทางเข้ากรุงเทพ ตนกูมะหะหมัด สหัด , ตนกูมะหะหมัดอาเกบ และหวันมาหลี เป็นสลัดแขกอยู่ที่เกาะยาว ถือโอกาสยกทัพเข้ามาตีเมืองตรัง ได้แล้วให้หวันมาหลีรักษาเมืองตรัง แล้วก็ไปตีเมืองไทรบุรีได้ถอยเข้ามาตั้งที่พัทลุง ความทราบถึงกรุงเทพ พระยานคร (น้อย) ยกกองทัพมาปราบเหตุการณ์ ซึ่งสงบลง ดังนั้นเพื่อลดปัญหาเมืองไทรบุรี ให้ย้ายพระยาไทรบุรี มาอยู่พังงา คือ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง)  แล้วกวาดแขกเมืองไทยมาพังงาด้วย  ให้เมืองไทยมีกำลังอยู่แต่น้อย ส่วนกำปั่น เรือรบ เรือไร่ ปืนใหญ่ ปืนน้อย ให้พระยาศรีพิพัฒน์ เจ้าเมืองสงขลา แบ่งมาไว้ที่เมืองตรัง และเมืองสงขลาเสีย

 

7.      เมืองตรังสมัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)       

ในปี พ.ศ. 2423 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริโยวงค์ (ช่วง บุนนาค)    ผู้สำเร็จราชการแทน
พระองค์รัชกาลที่ 5 ได้คิดออกทำนุบำรุงเมืองตรัง เพราะเห็นว่าตนเองชราภาพแล้ว จะได้สร้างอนุสรณ์ก่อนตาย เช่นเดียวกับ เจ้าพระยาสุรวงค์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เสนาบดีกลาโหม ออกสร้างเมืองจันทบุรี เสร็จใน 3 ปี ดังนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  จึงออกสร้างเมืองตรัง โดยนำแบบจากตึกคอนเวอร์เมนต์เฮาส์ของสิงคโปร์ โดยมีความยาวที่ทำการ 1 เส้น กว้าง 15 ศอก ดังนั้นภาษีที่ข้าหลวงใหญ่พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค)  ต้องเก็บส่งกรุงเทพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ถูกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นำไปสร้างเมืองจนหมด เป็นเวลาถึง 2 ปี เมื่อกรมพระคลังสมบัติ ได้เรียกเงินเอากับเสนาบดีกลาโหม (เจ้าพระยาสุรงค์ไวยวัฒน์) (วร บุนนาค ) ซึ่งทำหน้าที่บังคับบัญชาข้าหลวงใหญ่ คือ พระยามนตรีสุริยวงค์ (ชื่น บุนนาค) ทั้งสองคนเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บนนาค) ก็ไม่ทราบว่าจะทวงอย่างไร ซึ่งงานก่อสร้างที่ทำการเจ้าเมือง และที่ชำระคดี ที่เรียกว่า คอนเวอร์เมนต์เฮา นั้น       สร้างได้สูงประมาณ 2 ศอก แล้ว ดังนั้นพระยามนตรี สุริยวงศ์ จึงขอลาออกจากตำแหน่งข้าหลวงใหญ่เมืองตรัง ในปี 2425  เพราะทนสภาภาพที่ถูกบีบไม่ไหว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้เปลี่ยนแนวคิดในการสร้างเมือง  มาเป็นทำนุบำรุงเมืองตรังแทน เมื่อได้รับข้อเสนอแนะจาก เจ้าพระยาภานุวงศ์  (ท้วม บุนนาค)        แต่ได้ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน แต่ได้มอบหมายเมืองตรังให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมกอง ณ ระนอง)  เจ้าเมืองระนองเป็นผู้ดูแลเมืองตรัง พระยารัตนเศรษฐี ได้ทำนุบำรุงเมืองตรัง แต่ไม่ดีขึ้น เนื่องจากขาดทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ดีบุก แต่เหมาะกับการทำการเกษตรมากกว่า      ซึ่งต้องใช้ทุนและเวลามาก ดังนั้นจึงขอลาออกจากผู้ว่าราชการเมืองตรัง ในปี 2427     เมืองตรัง จึงตกอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ภูเก็ต คือ พระอนุรักษ์โยธา (กลิ่น)  ระหว่างปี 2428 ถึงปี 2430  และพระสุรินทรามาตย์ (พลอย พลอยแก้ว) ระหว่างปี 2430 – 2431    เจ้าพระยาตรังภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) มารับตำแหน่ง ในปี พ.ศ. 2431 – 2434
 

8.      เมืองตรังสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

พระยาตรังภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร)   มารับตำแหน่งปกครองเมืองตรัง เมื่อปี 2431      เมื่อ ปี
2433    ถูกราษฎรจำนวน 6,000 ครอบครัว         ถวายฎีกา ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5 ขณะเสด็จพระภาสภาคใต้ และเสด็จประภาสเมืองตรัง สภาพของเมืองตรังครั้งนั้นปรากฏในพระราชหัตถเลขา ดังนี้

            “……… แต่การปกครองในเมืองตรังเดี๋ยวนี้    พระยาตรังเป็นคนอ่อน ไม่พอแก่การไม่มีอำนาจอันใด การที่จะรับเสด็จนี้ก็วิ่งเอง จนหน้าเขียว จะหาผู้ใดช่วยเหลือไม่ได้ พวกจีนก็คิดอ่านจัดการรับของเขาเอง ส่วนหนึ่งต่างหาก ปลูกพลับพลารับทับเที่ยงแห่งหนึ่งต่างหาก แต่ไม่มีพาหนะจะไปด้วยระยะทาง ถึง 280 เส้น จึงบอกเลิกเสีย พระยาตรังไปแต่ไม่มีอำนาจเพระขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใด อย่างเดียวเท่านั้น

ไม่สมารถที่จะทำการให้แข็งแรงได้ เพราะสติปัญญาและความรู้ไม่พอแก่การด้วย แต่เป็นคนซื่อ ไถ่ถามการอันใดก็บอกตรง ๆ ตามความจริง ไม่คิดอ่านแก้ตัวปกปิดเอาแต่ความดีมาพูด ทุกวันนี้เมืองตรัง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ด้วยโจรผู้ร้าย แค่ในปีฉลูเอกศก พระยาตรังมาว่าการนี้ มีผู้ร้านปล้นที่ฉกรรจ์ 10 เรื่อง ฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย 5 เรื่อง ไม่ได้ตัวผู้ร้ายเลยสักเรืองเดียว พระยาตรังร้องว่าไม่มีกำลังที่จะติดตาม เป็นผู้ร้ายมาแต่เมืองพัทลุงบ้าง เมืองปะเหลียนบ้าง    เพราะระยะทางเดินข้ามแดนไม่ถึง 12 ชั่วโมง แต่ได้ความตามพวกจีนว่า พระยาตรังไม่สันทัดในทางถ้อยความอันใด ตัวเองก็ไม่ได้ว่าถ้อยความมอบให้แก่รมการ กรมการนั้นถึงว่าจะได้ตัวผู้ร้ายมาก็ลงเอาเงินปล่อยเสีย จนพวกชาวเมืองตรังตีราคากันว่า ถ้ามีเงินเพียง 10 เหรียญ เป็นไม่ต้องกลัวอันใด พวกจีนจับผู้ร้ายได้ก็ไม่ส่งเข้าเมือง ชำระว่ากล่าวโทษเสียเอง เพราะว่าถ้าส่งให้กรมการแล้วเป็นหนีได้ทุกคน พระยาตรังบังคับบัญชาอยู่ได้แก่ที่ตำบลควนธานีแห่งเดียว ที่ตำบลทับเที่ยง เกือบจะไม่รู้ไม่เห็นกันเลย เห็นว่าการในเมืองตรัง ถ้าจะให้เป็นอยู่เช่นนี้ คงจะเกิดความใหญ่สักครั้งหนึ่งไม่ช้านักเป็นแน่ ด้านคนในอังกฤษ ไปมาค้าขายมาก ที่เกิดผู้ร้ายฆ่าตายเช่นครั้งพระสุรินทรามาตย์เป็นข้าหลวงแต่ก่อนแล้ว จะเอาอะไรแก่พระยาตรังไม่ได้เป็นอันขาด

            ยังเรื่องเจ้าภาษีกับจีนในพื้นเมืองนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง น่าจะเป็นเหตุขึ้นได้ เหมือนอย่างเมื่อครั้งหลวงวิเศษสงกากร แต่ก่อนพวกจีนก็พากันร้องว่า เจ้าภาษีกดขี่ข่มเหง เป็นที่สอง หรือเป็นอีกอย่างหนึ่ง นอกจากกรมการที่คอยปล่อยผู้ร้าย ครั้นพวกจีนในเมืองนี้จะไปผูกภาษีเองจากที่กรุงเทพ ก็ต้องลงทุนกู้เงินไป สำหรับล่วงหน้า และใช้สอย เมื่อไม่ว่าภาษีไม่ได้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยเปล่า บางทีผู้ที่รับธุระเข้าไปว่าภาษีนั้นโกงกันเอง เอาเงินไปจำหน่าย สาบสูญเสียก็มี จึงไม่อาจที่จะคิดว่ากล่าว  ทนความข่มเหงของเจ้าของภาษี ซึ่งออกมากรุงเทพ ข้างฝ่ายจีนป่านเจ้าของภาษี ก็นำเรื่องราวมากล่าวโทษ พวกจีนว่าขัดแข้งในการภาษีต่างๆ การก็เป็นจริงทั้ง 2 ฝ่าย เพราะไม่มีอำนาจกลาง กล่าวคือ ผู้รักษาเมือง กรมการที่พอจะปราบปรามการที่ผิดล่วงเกินต่อกัน ในพวกเจ้าภาษีและพวกจีนทั้งสองฝ่ายได้ จึงได้ต่างคนต่างหาประโยชน์ของค่าให้อย่างยิ่ง ไม่มีบันทัดที่จะตัดเป็นเส้นกวางลงไปได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งควรคิดอ่านแก้ไข ในการเจ้าเมืองไม่มีอำนาจจะปกครองรักษาบ้านเมืองนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งพระอัสดงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี มาเป็นเจ้าเมืองตรัง ในตำแหน่งพระยารักษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ในปี 2434 ในช่วงนี้ เมืองตรังเจริญมาก เพราะเจ้าเมืองส่งเสริมการเกษตรให้ราษฎรปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ โดยบังคับให้ปลูกขมิ้น ตะไคร้ พริก มะเขือ มะกรูด มะนาว มะพร้าว มะละกอ อย่างละ 5 ต้น หรือ 5 กอ แม่ไก่ ครัวละ 5 แม่ จำนวน แม่ไก่เพียง 5 แม่ที่ท่านว่าจะช่วยให้ครอบครัวหนึ่งไม่ต้องหาเงินอื่นมาชำระรัชชูปการและเงินบำรุงการศึกษา บางคน เลี้ยงไว้มากกว่านั้นก็ทำเงินได้มาก ในสมัยนั้น จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่มีพริกไทยมาก เมื่อพริกไทยราคาตกต่ำน่าเห็นว่าจะฟื้นได้ยาก    ท่านจึงไปศึกษาการปลูกต้นยางและทำยางพารารับเบอร์ที่มะลายู ในที่สุดท่านก็ได้นำพันธุ์ยางมาปลูกแทนพริกไทย                ซึ่งสมัยนั้นเมล็ดพันธุ์ยางของมะลายู

เขาหวงแหนกันมาก     เพื่อเป็นการนำร่องท่านได้ชักชวนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีทรัพย์ ทำสวนยาง เป็นตัวอย่างเพื่อเป็นผลได้ ทั้งส่วนตัวและบ้านเมือง เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สร้างสวนยางที่ ตำบลกะช่อง พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤษฏาญณ์ ทำสวนยางที่กันตัง จนกลางเป็นพืชเศรษฐกิจ แพร่กระจายไปสู่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน  รวมทั้งการตั้งกองตำรวจหลวงขึ้น  มีตำรวจม้าด้วย ซึ่งมี พ.ท. ออกัส ฟิกเกอร์ เฟรดเดอริก คอลส์ นายตำรวจเดนมาร์ก เป็นผู้มาให้การฝึกสอนตำรวจที่จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก และซื้อกลไฟ ไว้ลาดตระเวนให้ความปลอดภัยทางน้ำ การคมนาคมได้ตัดถนนผ่านเขาพับผ้าไปพัทลุงถึงกันตัง ไปห้วยยอด (เขาขาว) การค้ากับต่างประเทศส่งสินค้าไปขายปีนัง

            ในปี พ.ศ. 2436 ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอย้ายเมืองตรังไปตั้งที่กันตัง โดยให้เหตุผลว่า เมืองตรัง ที่ควนธานีไม่เหมาะสมที่จะตั้งทำการค้า เนื่องจากอยู่ไกลจากปากอ่าว ทำนุบำรุงให้เจริญได้ยาก ที่กันตังนั้นเหมาะแก่การสร้างท่าเรือ ที่มีเรือน้ำลึกเข้าถึง จึงได้ย้ายเมืองตรังไปตั้งที่กันตัง สร้างศาลากลางเป็นตึกใหญ่ 2 ชั้น สองข้าศาลากลางมีตึกชั้นเดียว 2 หลัง เป็นศาลหลังหนึ่ง ที่ว่าการอำเภอหลังหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2439  สร้างจวนเจ้าเมืองที่ควนรัษฎา ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้แบ่งท้องที่การปกครองเรียกว่า ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ รศ 115 ได้รวมเมืองตรัง และเมืองปะเหลียนเข้าด้วยกัน แบ่งเป็น 5 อำเภอ คือ อำเภอบางรัก (ทับเที่ยง) อำเภอเมือง (กันตัง) อำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) อำเภอปะเหลียน  (เมืองปะเหลียนเดิม) อำเภอสิเกา มี 109 ตำบล สำหรับท่าเทียบเรือ เพื่อป้องกันการปล้นเรือ การสาธารณสุข ได้ให้มิชชันนาริอเมริกัน มีหมอดันแล็ปเป็นหมอประจำ ตั้งโรงพยาบาลทับเที่ยง ที่ทับเที่ยง   จนกระทั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ย้ายไปเป็นเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ในปี 2445 ซึ่งยังมีผลงานไว้อีกมากมาย

 

9.      เมืองตรังสมัยหลังพระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

พระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้ย้ายไปเป็นเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ในปี 2445 มีเจ้าเมืองปกครองต่อจากพระยารัษฏา ฯ  อีก 5 เจ้าเมือง คือ พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (ถนอม บุญยเกตุ) พ.ศ. 2445-2448 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พระสกลสถานพิทักษ์ (คอ อยู่เคียด ณ ระนอง) หลานพระยารัษฎาฯ พระยาตรกิจ พิจารณ์ (รุด) พ.ศ. 2455-2456  พระสุนทรเทพกิจจารักษ์ พ.ศ. 2456 – 2457 พระยารักษานุประดิษฐ์ (สิน  เทพหัสดินทร์) พ.ศ. 2457 – 2461  เมืองตรังก็ย้ายไปตั้งที่ อำเภอทับเที่ยง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เรือลำนั้นของเยอรมัน ชื่อ เอ็มเดน  ได้ลอยลำยิงถล่มปีนัง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต มีความเห็นว่า ทำสงครามยืดเยื้อต่อไป เมืองตรังอาจจะถูกยิงเช่นปีนัง  จึงกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 6 ของพระราชทานบรมราชานุญาตย้ายเมืองตรัง ไปตั้งที่ อำเภอทับเที่ยง และเมืองตรัง ก็ได้ย้ายไป ในปี พ.ศ. 2459 ตั้งศาลากลางทำการชั่วคราว ณ ตำหนักผ่อนกาย  จนถึงปี พ.ศ. 2462 จึงได้สร้างศาลากลางขึ้น ในที่ควนศาลากลางปัจจุบัน เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีหน้ามุขยื่นออกมา และมีปีกยืนไปข้างหลังทั้งสองข้าง     สร้างจวนเจ้าเมืองขึ้นบนควนอีกควนหนึ่ง ข้างหนองพลอง ในสมัยของพระยาตรังภูมาภิบาล (เจิม ปัญยารชุน)

ขณะที่เมืองตรัง ตั้งอยู่ที่ควนธานี ที่ทับเที่ยงเป็นชุมชนคนจีนอยู่แล้ว หนาแน่นอยู่ตั้งแต่    สี่แยกท่าจีนไปถึงตลาดสดเทศบาล คือ ถนนราชดำเนิน มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างสินค้า พื้นเมือง ของป่าที่มาจากบ้านตันรัก บ้านโคกหล่อ บ้านช่อง กับร้านค้าที่เข้ามาทางเรือที่ท่าจีน ชุมชนหนาแน่นกว่าเมืองตรังที่ควนธานี จึงได้มีคณะมิชชั่นนารี มาตั้งโรงพยาบาลทับเที่ยง ตามคำเชิญชวนของพระยารัษฏา  และได้ตั้งโรงเรียนอนุกูลสตรีขึ้นที่บ้านแหม่ม เพื่อสอนนักเรียนหญิงขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองตรัง พ.ศ. 2458 โรงเรียนวิเชียรมาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตามพระราชชนนีพันปีหลวง ให้สร้างโรงเรียนสอนนักเรียนชายขึ้นแล้ว จึงย้ายนักเรียนจากโรงเรียนตรังคภูมิ พร้อมด้วยครูและครูใหญ่ รองอำมาตย์ตรี ซุ่นติ๊ด สินฐวานนท์  มาอยู่ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ เมื่อปี พ.ศ. 2459   มีนักเรียนทั้งหมด 149 คน          เมืองตรังได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ จนขยายออกไปรอบ ๆ เพิ่มพื้นที่ เพิ่มประชากร เป็นเทศบาลเมือง และเทศบาลนครตรัง ในปัจจุบัน

 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 22764
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย