IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีน

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีน

    ชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองตรังได้ถือปฏิบัติประเพณีของบรรพบุรุษมาโดยต่อเนื่อง เมื่อถึงช่วงเทศกาลก็จะจัดให้มีกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน และยึดมั่นในวัฒนธรรมของตนอย่างเหนียวแน่น
 
     ตรุษจีน ช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประมาณเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ของทุกปี เตรียมงานกันประมาณ 1 ปักษ์ จะช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมเสื้อผ้าใหม่
     วันสิ้นปี คือวันที่ 29 หรือ 30 ค่ำเดือน 12 ทางจันทรคติของจีน ในตอนเช้าจะมีการไหว้พระภูมิเจ้าที่ต่างๆ หลังจากนั้นก็จะมีการไหว้สิ่งที่นับถือ บรรพบุรุษ โดยทำกันในตอนเช้าถึงเที่ยงตามชั้นเจ้า คือ ไหว้พระอิศวรและเทวดาจร ไหว้เจ้าที่นับถือ ไหว้บรรพบุรุษ และในตอนเย็นก็จะไหว้อีกครั้งหนึ่งอันเป็นการไหว้ญาติพี่น้องที่ดีต่อกัน หรือพวกที่เข้าบ้านไม่ได้ โดยนำเครื่องไหว้มาไว้ที่ลานหรือพื้นดินหลังบ้าน
     เครื่องเซ่นไหว้นั้นก็จะแยกเป็นไหว้ประเภทดิน ประเภทฟ้า บรรพบุรุษ ซึ่งต่างกัน เครื่องไหว้เจ้านั้นมีน้ำชาและขนมแห้ง 9 อย่าง ที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง ส่วนเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษมีอาหารคาวที่เป็นหลัก ได้แก่ ข้าวสวย หมี่ผัด ผักผัด แกงจืด และอาหารหวานเหมือนกับที่ไหว้เจ้า รายละเอียดของอาหารอาจแตกต่างกันบ้างตามความเชื่อของเชื้อสายจีนแต่ละกลุ่ม
     กิจกรรมในเทศตรุษจีน เริ่มแต่การตื่นแต่เช้า อาบน้ำให้สะอาด แต่งเสื้อผ้าชุดสดใส แล้วไหว้พระ แสดงให้เห็นว่าชาวไทยเชื้อสายจีนมีความกตัญญูเป็นเลิศ โดยจัดของเซ่นไหว้ตามประเภท มีขั้นตอนปฏิบัติตามขนบนิยม ซึ่งชาวจีนโดยทั่วไปจะหยุดงาน นั่งจิบน้ำชา คุยเรื่องที่เป็นมงคล ไม่กวาดขยะ ไม่ทำให้สิ่งของเครื่องใช้แตกเสียหาย แจกอั่งเปาแก่บุตรหลาน เยี่ยมผู้อาวุโสในบ้าน บางครอบครัวนำบุตรหลานไปพักผ่อนอย่างสนุกสนาน
 
     เช็งเม้ง เมื่อถึงช่วงเดือนห้าตามปฏิทินจีน เรียกปักษ์ฤดูกาลเช็งเม้ง หมายถึง ค่อนปลายฤดูใบไม้ผลิหรือเริ่มฤดูร้อน ตรงกับประมาณต้นเดือนเมษายน บรรดาลูกหลานชาวจีนจะไปตกแต่งฮวงซุ้ยบรรพบุรุษไว้ก่อนเพื่อเตรียมเซ่นไหว้
     ของเซ่นไหว้ แยกเป็นไหว้พระหรือเจ้าที่สุสานและเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ของเซ่นไหว้เจ้าที่ประกอบด้วยซาแซ (มีสัตว์ 3 ชนิด คือ สัตว์ปีก สัตว์สี่เท้ามีกีบ และสัตว์น้ำ) และผลไม้ ส่วนไหว้บรรพบุรุษนั้น มี ซาแซ น้ำชาและเหล้า หมี่ผัด ขนมแห้ง ขนมสด ผลไม้ กระดาษทอง เป็นต้น
     การเซ่นไหว้เจ้าที่ก่อนไหว้บรรพบุรุษ หลังจากเสร็จพิธีการต่างๆ แล้วก็จะนำอาหารที่เซ่นไหว้มารับประทานร่วมกัน ทำความสะอาดบริเวณ แล้วมีการพบปะชุมนุมบุตรหลานแสดงความปลื้มปีติกันทั่วหน้า โดยมีวิญญาณของบรรพบุรุษเป็นจุดรวมของจิตใจร่วมกัน เป็นผลให้การร่วมกลุ่มในระหว่างสมาชิกของคนในตระกูลมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
     
     ไหว้พระจันทร์ เมื่อถึงช่วงเดือนแปด ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ ตามจันทรคติของจีน ซึ่งตามคติชาวจีนเชื่อว่าเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงที่สุดในรอบปี ชาวไทยเชื้อสายจีนจะประกอบพิธีตามบ้านเรือน ระลึกถึงและบูชาบรรพบุรุษ โดยจัดของเซ่นไหว้มาวางบนโต๊ะบริเวณลานบ้าน บนดาดฟ้าหรือที่สามารถมองเห็นพระจันทร์ได้ชัดเจนที่สุดเมื่อพระจันทร์เต็มดวง
     ของเซ่นไหว้มีเครื่องสำอาง ส้มโอ กล้วยหอม อ้อย ทับทิม ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ขนมถั่ว น้ำชา ดอกไม้ ธูป เทียน โคมไฟ กระดาษเงิน กระดาษทอง แท่งทองทำด้วยกระดาษ ฯลฯ เมื่อพระจันทร์ขึ้นเต็มดวงสุภาพสตรีในครอบครัวจะจุดธูป 3 ดอกหรือ 5 ดอก ไหว้หน้าแทนบูชา อธิษฐานในสิ่งที่ตนปรารถนา แล้วปักธูปในกระถางธูป เป็นอันเสร็จพิธี
 
     กินเจ การกินเจเป็นการบูชาเทพนพเคราะห์ บำเพ็ญศีลสมาทาน ทำกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ งดเว้นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิด เว้นจากการทำบาป สลัดตนให้พ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยการถือศีล ผู้คนต่างมีจิตใจเบิกบาน นุ่งขาวห่มขาว อันเป็นปัจจัยเตือนตนเองได้สำนึกว่าตนเป็นคนที่บริสุทธิ์
     ชาวจีนเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามจันทรคติของจีน เทพเจ้าประจำดาวนพเคราะห์หรือพระกิวอ๋องไต้เต้ ทรงผลัดเปลี่ยนกันลงมาตรวจโลกมนุษย์ทั้งกลางวันและกลางคืน จึงจัดพิธีถือศีลกินเจในเดือน 9 เริ่มตั้งแต่วันขึ้น รวม 9 วัน 9 คืน แต่ศาลเจ้าบางแห่งจะกำหนดวันจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม
     การกินเจในเมืองตรังเกิดจากกลุ่มคนจีนในเมืองตรังมีศรัทธาจัดให้มีขึ้น และได้กระจายไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ได้จัดประเพณีถือศีลกินเจมานาน จากเอกสารของศาลเจ้ากิวอ่องเดี่ย และงานวิจัยของ วิรัตน์ แก้วแทน ได้กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า เมื่อราวประมาณ 150 ปีที่ผ่านมาได้มีชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองตรังตามลำน้ำตรัง ตั้งแต่ปากน้ำกันตัง ท่าจีน ไปจนถึงห้วยยอด ได้ตกลงจัดงานถือศีลกินเจขึ้น โดยให้นายลิ่ม ก๊กจุ้ย ไปอัญเชิญกระถางธูปของเทพเจ้า 9 องค์มาจากเมืองจีน เริ่มจัดงานครั้งแรกที่บ้านท่าจีน ต่อมาก็ย้ายมาจัดที่วัดต้นสะตอหรือวัดตันตยาภิรมเป็นการชั่วคราว ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจัดสร้างศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยขึ้น ก็ใช้โรงศาลเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งต่อมามีศาลเจ้าอื่นๆ เกิดขึ้น ทำให้การกินเจขยายวงกว้างออกไป โรงศาลเจ้าแต่ละโรงก็ได้จัดกิจกรรมกินเจ หรือเข้าร่วมกับโรงศาลเจ้าที่เป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรม
     งานถือศีลกินเจของจังหวัดตรังที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานมากมายนั้นจะเริ่มเตรียมงานตั้งแต่วันขึ้น 27 ค่ำจีน เดือนแปดจีน (หากวันเดือนขึ้นค่ำของจีนปีใดมีเพียงแค่วันขึ้น 29 ค่ำเดือนแปด ก็จะเริ่มเตรียมงานตั้งแต่วันที่ 26 ค่ำจีน) โดยจะหาฤกษ์เพื่อตั้งโต๊ะบวงสรวงอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ อันพึงจะเสด็จมาในวันเริ่มพิธีถือศีลกินเจ การตั้งโต๊ะบวงสรวงนี้ คนจีนเรียกตามสำเนียงชาวฮกเกี้ยนว่า ป่ายตั๋ว เมื่อตั้งโต๊ะบวงสรวงแล้วก็จะทำความสะอาดภายในตัวศาลเจ้า ตลอดทั้งตั้งแท่นบูชา เชิงเทียน ตะเกียงน้ำมัน กระถางธูปทุกๆ แท่นบูชา มีการจัดตกแต่งบริเวณเตรียมสถานที่ บุคคล เครื่องใช้ต่างๆ อาหาร รมกำยานให้หอม จุดกระดาษเงินกระดาษทอง
     ครั้นถึงวันขึ้น 30 ค่ำเดือนแปดจีน ตอนเช้าก็จะมีการยกเสาเต็งโก เรียกตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยนว่า คี่เต็งโก 75 ไว้หน้าศาลสำหรับอัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้า พอเที่ยงคืนก็ประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ (พระอิศวร) และกิวอ๋องไต้เต่ (ผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9) มาเป็นประธานในพิธี ชาวบ้านเรียกว่าพิธี รับพระ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญในการกินเจ โดยอัญเชิญไฟพระฤกษ์เข้าภายในศาลเจ้า ณ ที่แท่นบูชา และเริ่มพิธีจุดตะเกียงน้ำมันมะพร้าวที่แท่นบูชาขอเทพเจ้าต่างๆ ตามที่ไฟพระฤกษ์ผ่านทั้งหมด จากนั้นก็จะแขวนตะเกียงหรือโคมไฟ 9 ดวง อันเป็นสัญลักษณ์ของดวงวิญญาณกิวอ๋องไต้เต่ ไว้บนเสาเต็งโก แสดงถึงการเริ่มพิธีกินเจ คนที่เข้าร่วมการกินเจจะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว รับประทานอาหารเฉพาะผักและผลไม้ งดเว้นเนื้อสัตว์ งดเว้นการกระทำกิจใดๆ ที่เป็นการเบียดเบียนสร้างความเดือนร้อนแก่สัตว์ทั้งปวง
     หลังจากนี้จะมีพิธีหลายอย่างไปจนเสร็จสิ้นการกินเจ ในระหว่างงานพิธี ในวัน 3, 6, 9 ค่ำ จะมีพิธีบวงสรวงเลี้ยงเหล่าทหารเทพ กลางคืนมีการสวดมนต์ทุกคืน มีพิธีโกยห่านสะเดาะเคราะห์ กำหนดวันออกโปรดสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา เรียกว่า พระออกเที่ยว มีการแสดงอภินิหารทำร้ายร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ของพระกับม้าทรง สำหรับในวันพระออกเที่ยวนี้ตามบ้านเรือนจะตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดต้อนรับ
     พิธีสำคัญในการกินเจ คือพิธีลุยไฟ เรียกว่า พิธีโกยโห้ย โดยเชื่อว่ากองไฟเป็นกองไฟศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงอิทธิฤทธิ์ที่บังคับไฟไม่ให้ร้อน หรืออีกนัยหนึ่งเชื่อว่าเป็นไฟทิพย์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ การลุยไฟกระทำโดยการก่อกองไฟด้วยถ่านไม้จนกระทั่งถ่านลุกแดงแล้วเกลี่ยให้กว้าง พระทำพิธีลุยไฟก่อน ต่อจากนั้นผู้ที่กินเจและมั่นใจว่าตนเอง เช้งคือสะอาดบริสุทธิ์ก็จะลุยไฟโดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เด็กผู้หญิงและคนแก่เฒ่าห้ามลุยไฟ ผู้ที่ไม่เช้งห้ามลุยไฟเพราะอาจจะได้รับอันตราย
     การลุยไฟส่วนหนึ่งมีการนำเอาสิ่งของต่างๆ ที่นำออกไปจากศาลนำกลับเข้าประจำที่เดิมในศาลโดยต้องผ่านกองไฟ เพื่อให้บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเป็นภัยทั้งปวง และเป็นการประกอบพิธีส่งพระด้วย ในวัน 9 ค่ำ เมื่อทำพิธีส่งพระเสร็จสิ้น สิ่งของต่างๆ ผ่านกองไฟกลับไว้ในศาลแล้ว พอถึงวัน 10 ค่ำมีพิธีเชิญตะเกียงและเสาธงลง เป็นอันสิ้นสุดพิธีในเทศกาลกินเจ
     ปัจจุบันการกินเจจัดทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ โดยจะมีศาลเจ้าศาลใดศาลหนึ่งเป็นหลักหรือเป็นสถานที่ประกอบพิธี พระจากศาลเจ้าต่างๆ จะได้รับเทียบเชิญให้เข้าร่วมการกินเจทั่วกัน
     ที่กล่าวขวัญกันในเทศกาลกินเจเมืองตรังก็คืออภินิหารและศรัทธาของผู้คนผู้ร่วมพิธีกินเจที่มาจากหลายแหล่ง ผู้คนต่างถิ่นที่มาเยี่ยมเยือนเมืองตรังในเทศกาลกินเจ จะตื่นตาตื่นใจกับขบวนอาภรณ์สีขาวอันยาวเหยียดของบรรดาผู้ศรัทธาที่เข้าร่วมประกอบพิธีกรรม พระประทับร่างทรงออกเยี่ยมเยือนบ้านที่จัดโต๊ะบูชาไว้ต้อนรับ พร้อมกับการจุดประทัดนับร้อยนับพันเสียงดังสนั่นก้องจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่งไม่ขาดสาย พระในร่างทรงได้ร่วมพิธีลุยไฟแสดงอภินิหารต่างๆ เกิดความฉงนและศรัทธาแก่ผู้ประสบพบเห็น นับเป็นประเพณีที่ให้มีความตั้งมั่นในการมุ่งสร้างความบริสุทธิ์ให้เกิดแก่กายใจ โดยการนุ่งขาวห่มขาว กินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจ บ่งบอกถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น รักษาจิตให้ผ่องใส

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 22981
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย