IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีชาวไทยพุทธ

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีชาวไทยพุทธ

     ชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนเมืองตรัง ส่วนใหญ่มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนเป็นประเพณีท้องถิ่น เช่น ตักบาตรปีใหม่ สงกรานต์เดือน 5 ลากพระเดือน 5 และลากพระเดือน 11 ถวายเทียนพรรษา เดือน 8 ลอยกระทงเดือน 12 และมีพิธีอื่นๆ ตามท้องถิ่น เช่น ลาซัง ทำขวัญข้าวซึ่งจัดหลังการเกี่ยวข้าว เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะบางประเพณีที่เด่นชัด

     ตักบาตรปีใหม่ ในโอกาสวันสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในรอบปี วันที่ 31 ธันวาคม และวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่เขตตรังเมือง จะนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้าของวันที่ 1มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ นิมนต์พระภิกษุสามเณรจากวัดต่างๆ ออกบิณฑบาต ผู้คนจากที่ต่างๆ จะหลั่งไหลกันมาแต่เช้าเพื่อจะตักบาตรร่วมกันต่อญาติมิตร เสริมสถานที่ตักบาตรใช้ศูนย์กลางชุมชน เช่น ลานวัด หน้าศาลากลางจังหวัดบริเวณสนามในเขตใกล้ตลาด เป็นต้น
 
     สงกรานต์ วันสงกรานต์ หรือที่เรียกอีกชื่อว่าวันว่าง คือวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 เมษายน สืบเนื่องจากความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ที่กล่าวถึงท้าวกบิลมหาพรหมผู้ตัดเศียรของตนตามสัญญาในการตอบปัญหากับธรรมบาลกุมาร แล้วบรรดาธิดานำเศียรนั้นแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาสครบรอบปีจึงนำออกแห่ครั้งหนึ่ง เทวดาก็ไปชุมนุมในขบวนแห่กันหมด ผู้คนต้องงดการงานทุกอย่างเพราะเชื่อว่าไม่มีเทวดาคอยปกปักรักษา อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ วันนี้จึงเป็นวันว่าง ก่อนถึงวันว่าง ทุกบ้านจะเริ่มจัดตกแต่งบ้านให้สะอาด พอถึงวันว่างก็หยุดการงานทุกชนิด จัดเตรียมอาหารไปทำบุญและร่วมกิจกรรมต่างๆ มีการทำบุญตักบาตรตอนเช้า ถวายภัตตาหารเพล บังสุกุลอัฐิบรรพชน ฉลองทรายหรือขนทรายเข้าวัด สรงน้ำพระ เป็นต้น
     บางแห่งผู้ใหญ่จะพาบุตรหลานไปเคารพเยี่ยมเยียนผู้เฒ่าผู้แก่ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เรียกว่า เบญจาสระหัว ในช่วงวันว่างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะถือเป็นช่วงพักผ่อนเที่ยวเล่นกันอย่างเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการงานไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน ในวันที่ 13 จะมีการเล่นสาดน้ำ ผู้ใหญ่เล่นยิงสะบ้า หรือบางทีก็มีการพนันประเภทโป ฯลฯ ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้งที่มะม่วงหิมพานต์ออกผลสุก เมล็ดมะม่วงหิมพานต์หรือลูกท้ายหัวครกใช้นำมาเล่นได้หลายอย่าง เช่น ซัดราว กำทาย กันสนุกสนาน
 
     วันสารทเดือนสิบ วันสารท หรือ วันทำบุญเดือนสิบ เป็นวันสำคัญที่ชาวตรังได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่เดิมเช่นเดียวกับชาวใต้ทั่วไป โดยเชื่อว่าในปลายเดือนสิบ ปู่ย่าตายายและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีบาปตกนรกเป็น เปรต พญายมจะปล่อยให้ขึ้นมาพบลูกหลานในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปอยู่เมืองนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจึงจัดให้มีการทำบุญ 2 ครั้ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
     ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า วันรับเปรต – ตายาย ชาวบ้านจะจัดสิ่งของต่างๆ ไปทำบุญที่วัด เช่น ข้าวสาร กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และบรรดาเครื่องปรุงรสอาหารที่จำเป็นจนครบ อาหารแห้งประเภทปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักผลไม้สำหรับประกอบอาหารคาวหวานที่เก็บไว้ได้นาน เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผักอื่นๆ บรรดาที่มีในเวลานั้น นอกจากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม่ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย เครื่องเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู ปูน กานพลู การบูน พิมเสน สีเสียด ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน ขนมพอง ขนมลา ขนมดีซำ ขนมบ้า อันเป็นขนมสำหรับงานบุญสารทเดือนสิบ เพื่อจัดส่งให้ตายาย และญาติผู้ล่วงลับ
     ก่อนวันทำบุญ มีการจัดเตรียมขนมออกเปนส่วนๆ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งนำไปตั้งบูชาตายายที่จัดหิ้งเอาไว้ ส่วนหนึ่งนำไปให้กับญาติมิตรที่รู้จักมักคุ้น ส่วนหนึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับไสหมฺรับ หรือพุ่มจาด อีกส่วนก็จัดเตรียมไปสำหรับตั้งเปรต
     ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือเป็นวันทำบุญใหญ่ บางทีเรียกว่าวันส่งตายายหรือวันชิงเปรต มีการทำขนมและจัดหาข้าวของสำหรับทำบุญเช่นเดียวกับวันรับตายาย แต่จะเพิ่ม การจัด หมฺรับ หรือ พุ่มจาด นำแห่กันไปที่วัด บรรดาพ่อค้าแม่ค้าซึ่งรู้ความต้องการของชาวบ้านในโอกาสนี้ดี ก็จะนำขนมและข้าวของต่างๆ ที่ใช้สำหรับจัดหมฺรับหรือพุ่มจาดไปวางขายกันมาก ทำให้ตลาดมีความครึกครื้นเป็นพิเศษ
     การจัดหมฺรับ หรือ พุ่มจาด บางแห่งจัดกันเฉพาะครอบครัว หรือในหมู่ญาติพี่น้อง บางแห่งจัดเป็นกลุ่มเป็นพวก บางทีในละแวกบ้านหนึ่งจะร่วมกันเรี่ยไรเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการแต่งพุ่มจาด และนำขนมพอง ลา และขนมอื่นๆ ตลอดถึงสิ่งของเครื่องใช้ใส่ในพุ่มจาด แล้วร่วมกันจัดพุ่มจาด ผู้ที่ไม่ได้จัดพุ่มจาดของตนเองก็นำสิ่งของและเงินทำบุญไปร่วมกับพุ่มจาดของผู้อื่นเรียกว่า ทอนจาด ผู้ร่วมทำบุญจะมาช่วยกันตกแต่งพุ่มจาด คือ การคุมจาด มีการตีกลองร้องโห่กันครึกครื้น เป็นการช่วยไม่ให้งานเงียบเหงา คล้ายกับเป็นการประชาสัมพันธ์ว่ามีการจัดทำพุ่มจาดแล้ว และยังมีประเพณี ลักคุมจาด เกิดจากกลุ่มผู้รักสนุก เมื่อรู้ว่าบ้านใดมีการทำพุ่มจาดหรือประกวดจาด ก็จะรวมกลุ่มแบกหามกลองยาวกันไปที่บ้านนั้นโดยไม่ให้รู้ตัว เป็นลักษณะของการแอบไปเพื่อที่จะดูว่าเขาทำจาดกันสวยงามหรือไม่ ทำอย่างไร เมื่อไปถึงก็ตีกลองร้องโห่ขึ้นพร้อมกันเป็นที่สนุกสนานให้รู้ว่าจาดได้ถูกเข้ามาดูแล้ว เจ้าของบ้านก็จะยกขนมมาต้อนรับตั้งวงกัน การลักคุมจาดแต่เดิมถือเป็นเรื่องสนุกสนาน แม้จะเดินทางไกลก็จะรวมกลุ่มกันไปไม่ย่อท้อ ปัจจุบันการไปลักคุมจาดมีน้อยลง แต่การทำพุ่มจาดและตีกลองคุมจาดที่บ้านทำพุ่มจาดก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะที่บ้านท่าพญา อำเภอปะเหลียน ยังสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย
     ตอนเช้าของวันแรม  15 ค่ำ ชาวบ้านก็จะจัดขบวนนำพุ่มจาดไปวัด มีการตีกลองร้องโห่แห่กันไป เรียกว่า แห่จาด ซึ่งจะมีคนที่ชอบสนุกเป็นแกนนำโห่ร้อง กลุ่มเด็กๆ และผู้ร่วมขบวนก็จะเดินโห่ร้องตาม ...ไปแล้วและวา...ๆ...เฮโล...ๆ.. เมื่อไปถึงวัดก็จะแห่เวียนรอบสถานที่สำคัญหรืออุโบสถและนำเข้าไปวางไว้ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ บางชุมชนมีการจัดประกวด จึงมีการตกแต่งพุ่มจาดกันอย่างสวยงาม ชาวบ้านจะร่วมทำบุญ บริจาคเงิน ติดยอดจาด ด้วย ซึ่งเงินทำบุญที่ได้ก็จะนำไปบำรุงวัดต่อไป
     กิจกรรมสำคัญในวันเดือนสิบ คือ การตั้งเปรต หลังถวายภัตตาหารเพล ชาวบ้านจะนำข้าวของ ขนม อาหารไปวางไว้ตามสนามนอกวัดเป็นกลุ่มๆ เพราะเชื่อว่ามีเปรตส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้ามาถึงในวัดได้ จึงได้มีการตั้งเปรตกันที่นอกวัด และเชิญวิญญาณตายายที่เป็นเปรตให้มารับเอาขนมที่ตั้งนั้น กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เปรตและส่งเปรตกลับ เสร็จแล้วชาวบ้านและเด็กๆ ก็จะแย่งกันชิงเอาสิ่งของที่ตนหมายตาไว้จากวงเปรตกันเป็นที่สนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต ชาวบ้านบางคนโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ก็จะจัดเก็บข้าวของบางส่วนนำกลับไปบ้านด้วย เรียกว่า ข้าวคู่เปรต ด้วยเชื่อว่าการรับประทานข้าวคู่เปรตนั้นเป็นมงคล
     ในวันทำบุญเดือนสิบ บรรดาชาวตรังที่ไปอยู่ต่างถิ่นจะกลับมาบ้านเพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตลอดจนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติที่มีต่อบุรพชน ทั้งยังเป็นโอกาสที่จะได้พบปะเยี่ยมเยียนกันในหมู่ญาติอีกด้วย
     
     ถวายเทียนพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ออกพรรษา
     ในวันเข้าพรรษาของท้องถิ่นเมืองตรัง เมื่อถึงเทศกาลชาวบ้านทั่วไปจะเตรียมสิ่งของเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุในการจำพรรษา มีการทำบุญถวายสิ่งของต่างๆ ที่สำคัญคือการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน จัดถวายพระภิกษุในวันก่อนเข้าพรรษา เมื่อถึงวันเข้าพรรษาพระภิกษุจะได้ใช้เทียนเหล่านี้ในวันเข้าพรรษาพอดี
 
     ลากพระ ประเพณีลากพระหรือชักพระของเมืองตรังจะมีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการลากพระบก นิยมจัดกันตามชุมชนตรังนา บริเวณท้องทุ่งกว้างๆ ใกล้วัด ชุมชนที่จัดกิจกรรมลากพระมานาน ได้แก่ แถบวัดพระงาม ควนขัน ทุ่งหินผุดในเขตอำเภอเมืองตรัง เป็นแหล่งรวมกิจกรรมจากวัดต่างๆ ที่รายรอบ เช่น วัดควนขัน วัดจอมไตร วัดโคกยาง วัดกะพัง วัดคลองน้ำเจ็ด วัดโคกหล่อ ฯลฯ มีการตกแต่งเรือพระให้สวยงามประกวดกัน แล้วชักลากจากหมู่บ้านหรือวัดที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านตั้งแต่ช่วงสายๆ มาชุมนุมกันในท้องทุ่ง เข้าวัดทำบุญกันเรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายก็เล่นจับคู่วัดเป็นคู่ๆ แย่งพระกัน วัดที่ชนะจะได้พระไป พอถึงปีก็จัดเรือพระลากพระชุมนุมแย่งพระกันใหม่
     กิจกรรมที่ควบคู่กับประเพณีชักพระคือการแทงต้ม ก่อนถึงวันชักพระ ชาวบ้านนำข้าวเหนียวมาแช่ ผัดกะทิ แล้วห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม ต้มในกะทะ สุกแล้วนำมาผูกรวมเป็นพวง พวงละ 3 – 5 ลูก เอาไปประดับเรือพระ ทำบุญถวายพระพร้อมกับการถวายภัตตาหารเพล และเป็นอาหารระหว่างการละเล่น
     ปัจจุบันการชักพระเดือน 5 ที่ยังคงปฏิบัติสืบทอดมาทุกปีคือชุมชนควนขันก่อนวันลากพระ ชาวบ้านทำต้มและร่วมกันตกแต่งเรือพระ ในวันชักพระตอนเช้าก็เข้าวัดทำบุญพอถึงตอนบ่ายก็พร้อมใจกันชักลากเรือพระเข้าวัดกันเป็นที่สนุกสนาน เป็นการสืบทอดประเพณีชักพระเดือน 5 แต่ไม่มีกลุ่มอื่นๆ มาร่วมวงแย่งพระกันเหมือนสมัยก่อน
     การชักพระเดือน 11 ในช่วงออกพรรษา ปฏิบัติตามความเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานที่ว่า ในวันดังกล่าว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับมนุษย์โลกทางบันไดทิพย์ พุทธศาสนิกชนจึงได้นำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ สืบมาเป็นประเพณีลากพระ เหมือนๆ กับท้องถิ่นอื่นภาคใต้
     ก่อนวันลากพระชาวบ้านจะตกแต่งเรือพระและทำต้มเช่นเดียวกับในเดือน 5 พอถึงวันแรม 1 ค่ำ ในตอนเช้ามีการตักบาตรทำบุญเลี้ยงพระ และอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเหนือเรือพระ นิมนต์พระภิกษุขึ้นนั่งประจำเรือพระ อุบาสก และศิษย์วัดก็ตีฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง โพน เป็นที่ครึกครื้น ชาวบ้านก็ช่วยกันลากพระออกจากวัด ขณะที่ลากพระไปใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระหรือร่วมลากตอนใดก็ได้ แสดงให้เห็นถึงการรื้อฟื้นประเพณีลากพระให้คงอยู่เป็นกิจกรรมชุมชนต่อไป กิจกรรมลากพระในเดือน 11 ในเมืองตรังจัดกันทั่วไปโดยเฉพาะที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอเมืองตรัง ยังคงมีอยู่เป็นประจำทุกปี
     ประเพณีลากพระของเมืองตรังแต่เดิมบางกลุ่มจัดลากพระทางน้ำ สายแม่น้ำตรังมีเรือพระมาจากทั้งด้านเหนือและด้านใต้ ทางด้านเหนือจะเริ่มขบวนที่วัดประสิทธิชัย (ท่าจีน) ส่วนด้านใต้ เช่น โคกยาง คลองลุ ย่านซื่อก็จะลากพระทวนน้ำขึ้นมา ชุมนุมกันที่ท่าน้ำหัวไทร ตำบลควนธานี สายแม่น้ำปะเหลียนเดิมทีแหล่งชุมนุมเรือพระที่บ้านปากปรน กิ่งอำเภอหาดสำราญปัจจุบัน บางปีก็ไปรวมกันที่บ้านหินคอกควาย มีเรือพระจากหมู่บ้านและวัดต่างๆ เช่น บ้านหินคอกควาย ตำบลบ้านนา ตำบลท่าพญา จากฝั่งบ้านแหลม อำเภอกันตัง และที่อื่นๆ ในงานลากพระแต่เดิมจะมีกิจกรรมการแข่งขันเรือพาย เรือแจว เรือกรรเชียง และมีการแย่งพระกันด้วย การลากพระทางน้ำจึงเป็นที่รวมความสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งของผู้คนเมืองตรัง
 
     ลอยกระทง ในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปีเป็นช่วงน้ำหลาก ชาวบ้านทั่วไปจัดทำกระทงและอธิษฐานสะเดาะเคราะห์นำลอยไปกับกระทง จัดกันทั่วไปทุกพื้นที่ ชาวบ้านต่างจัดทำกระทงตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ผู้เฒ่าคนแก่ก็ถือโอกาสในวันลอยกระทงกระทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้แก่บุตรหลาน โดยตัดเล็บมือ เล็บเท้า ผม ชายผ้า ทั้งของตนเองและของบุตรหลาน อธิษฐานสะเดาะเคราะห์นำลอยไปกับกระทง เชื่อว่าทำให้เคราะห์ในตัวลดลงไปด้วย
     งานลอยกระทงของจังหวัดตรังที่จัดเป็นงานใหญ่ เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 ที่ท่าน้ำอำเภอกันตังมีกิจกรรมหลักคือการออกร้าน การแสดง การแข่งขัน และการออกร้านของนักเรียน ในปีแรกๆ มีการโต้กลอนสดด้วย นอกจากนั้นยังมีมหรสพ ประกวดกระทงประกวดนางนพมาศ แข่งขันเรือพาย กีฬาในน้ำ เป็นต้น ในยุคแรกๆ งานลอยกระทงที่อำเภอกันตังเป็นที่ขึ้นชื่อ เมื่อถึงวันลอยกระทงผู้คนจากทุกอำเภอจะหลั่งไหลไปเที่ยวงานและร่วมลอยกระทงที่ท่าน้ำกันตัง ปัจจุบันงานประเพณีลอยกระทงของอำเภอกันตังได้ปรับเปลี่ยนไป มีกิจกรรมการออกร้านของเอกชนมากขึ้น ส่วนกิจกรรมอื่นๆ มีน้อยลง

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 22589
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย