IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีท้องถิ่นเมืองตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีท้องถิ่นเมืองตรัง

     เมืองตรังมีประเพณีหลายอย่างตามพื้นฐานของผู้คน มีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาล ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ประเพณีในรอบปี ประเพณีที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่
     ประเพณีงานศพ เมืองตรังมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ประเพณีงานศพเมืองตรังจึงมีพิธีกรรมที่แตกต่างไปตามศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม แต่มีบางอย่างที่เหมือนกันอันแสดงถึงความเป็นตรัง
     
     งานศพชาวไทยพุทธ ชาวไทยพุทธท้องถิ่นมีกิจกรรมงานศพหลายขั้นตอน นับแต่วันตาย วันตั้งศพ วันฌาปนกิจศพ เมื่อมีคนตายก็จะกระจายข่าวให้รู้กันทั่วไป บรรดาญาติมิตรผู้สนิทสนมรู้จักมักคุ้นกับญาติผู้ตายก็จะไปร่วมโดยจิตสำนึกว่าเพื่อนที่ดีจะเห็นกันเมื่อตาย
     เมื่อมีผู้ตาย พิธีแรกคือการเตรียมบรรจุโลง ด้วยการจัดศพผู้ตายให้นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จัดแต่งซงหมากพลู ดอกไม้ ธูปเทียนให้ผู้ตายถือไว้แล้วคลุมด้วยผ้า จัดเตรียมโลง อาบน้ำศพ แต่งตัวศพ นิมนต์พระภิกษุทำพิธีมัดตราสัง และนำศพบรรจุโลง ซึ่งมีความเชื่ออยู่ว่าจะไม่บรรจุโลงในวันพุธ ถ้าวันตายเป็นวันพุธ ก็จะรอเวลาไว้จนผ่านเที่ยงคืนไปแล้ว จึงบรรจุศพลงโลง
     การจัดงานศพในสมัยก่อน เจ้าภาพต้องเตรียมการอยู่หลายวัน เตรียมสถานที่ ปลูกโรงพิธี โรงเลี้ยง โรงครัว จัดหาฟืน สิ่งของต่างๆ ที่จะใช้ในงานศพ ไปบอกกล่าวญาติมิตรที่อยู่ห่างไกล ดังนั้นจึงนำศพใส่โลงค้างไว้ก่อนเมื่อถึงวันที่เหมาะสมซึ่งมักจะเป็นหน้าแล้งก็จะนำมาบำเพ็ญกุศล อาจจัดพิธีที่บ้านหรือที่วัดตามสะดวก ปัจจุบันเมื่อบรรจุศพแล้วส่วนใหญ่จะจัดงานต่อเนื่องจนเผาเรียบร้อยในคราวเดียว
     ชาวตรังนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลหลายวัน โดยถือเอาวันฤกษ์ดีเป็นวันยกศพไปเผาหรือฝัง ซึ่งมักจะจัดงานศพให้เสร็จสิ้นในช่วงเดือน ไม่นิยมจัดงานศพฉีกขาข้ามเดือน (หมายถึงการตั้งบำเพ็ญกุศลที่มีวันอยู่ระหว่างข้างขึ้นกับข้างแรมหรือระหว่างเดือนต่อเดือน) หลังจากยกศพขึ้นแล้วก็จะจัดเตรียมงานจนถึงวันสำคัญในสามวันสุดท้าย คือ วันเข้าทับ วันเข้าการและวันเผา
     เมื่อเริ่มงานก็จะมีจัดการตกแต่งโลง ตอนกลางคืนมีสวดพระอภิธรรม กลางวันทำบุญถวายสังฆทาน เตรียมอาหารไว้จัดเลี้ยง ทำบุญถวายสังฆทาน เตรียมอาหารไว้จัดเลี้ยงผู้มาฟังสวดและนั่งเพื่อนศพ มีมหรศพตามฐานะเจ้าภาพ เช่น หนังตะลุง มโนราห์ กาหลอ กลอนลาน เป็นต้น ในวันเข้าทับอาจมีการจุดดอกไม้ไฟประเภท อ้ายตูม ตรวด เพื่อเป็นสัญญาณบอกข่าว
     การเตรียมงานศพในปัจจุบันที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาวตรังคือการพิมพ์ใบประกาศงานศพขนาดใหญ่ ปิดประกาศให้เพื่อนฝูง ญาติมิตรทราบเพื่อจะได้มาร่วมงาน
     การจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมงาน ในวันแรกๆ ตอนกลางคืนจะมีถั่วลิสงคั่วกับน้ำชาหรือน้ำเย็น บางทีก็จะมีขนมแห้งหรือขนมสด ตลอดจนอาหารประเภทขนมจีน ก๋วยเตี๋ยวตามฐานะเจ้าภาพ หรือตามที่ญาติมิตรจัดมาช่วย ในวันเข้าทับ จะมีการล้มหมู ล้มวัว ไว้สำหรับงานเลี้ยงใหญ่ ในวันเข้าการ ในวันเข้าทับนี้พ่อครัวจะนำเอาเครื่องในมาแกงก่อน เรียกว่า แกงสมรม แขกที่มาจะได้รับเลี้ยงข้าวมื้อเย็นด้วย พอถึงวันเข้าการ ซึ่งคนจะมากันเป็นจำนวนมาก การเลี้ยงข้าวมื้อเย็นถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีอาหารอย่างน้อย 3 อย่าง แกงหลักมักจะเป็น แกงเนื้อวัวน้ำขลุกขลิกใส่เครื่องเทศเรียกว่าเครื่องร้อย แกงจืด และผัด หรือเกายุก (คล้ายหมูพะโล้ ปรุงรสเพิ่มเติมด้วยเต้าหู้ยี้ ใส่เผือก เต้าหู้ทอด และเห็ดหอมด้วย) เรื่องอาหารนี้เจ้าภาพถือเป็นเรื่องสำคัญต้องดูแลมิให้ขาดตกบกพร่อง
     เจ้าภาพจะทักทายกับทุกคนที่มาร่วมในงาน มีโฆษกประกาศต้อนรับเชื้อเชิญแขกเข้าสู่โรงเลี้ยงเพื่อรับประทานอาหาร เสร็จแล้วญาติมิตรและแขกก็จะร่วมทำบุญ เรียกว่า ให้งาน มีเจ้าภาพคอยรับเงินจดชื่อ - นามสกุล บ้านที่อยู่ จำนวนเงิน และตอบแทนด้วยบัตรขอบคุณ บอกกำหนดการณาปนกิจผูกด้วยสีแดงไว้เป็นการเชิญชวนให้มาในวันเผาอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันบางงานเปลี่ยนจากบัตรขอบคุณเป็นของชำร่วยประเภทยาหม่อง ยาดม
     เมื่อวันถึงวันยกศพไปเผาหรือฝัง บรรดาญาติมิตรเพื่อนฝูงที่รู้จักมักคุ้นก็จะมาร่วมพิธีสวดมาติกาบังสุกุล มีการเลี้ยงอาหารเที่ยงอีกครั้งหนึ่ง อาจเป็นอาหารชนิดเดียวกับวันเข้าการหรือหมี่ผัด เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ยกศพจากที่ตั้งหามไปสู่เมรุหรือป่าช้าเพื่อเผาหรือฝังตามประเพณี สมัยก่อนผู้ไปส่งศพจะถือฟืนไปคนละดุ้นด้วยเพื่อใช้เผาศพ ปัจจุบันธรรมเนียมนี้ยังมีอยู่บ้างในชนบท ถ้าเป็นศพที่เผาก็จะเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เจ้าภาพจะนิมนต์พระแปรธาตุเพื่อเก็บอัฐินำไปบังสุกุล นำเก็บไว้ในที่เหมาะสม หรือบัวซึ่งทำเป็นรูปเจดีย์เล็กๆ สูงประมาณ 1 เมตร เรียกว่าเข้าบัว
     การไว้ทุกข์ บรรดาลูกหลานและญาติจะไว้ทุกข์ด้วยการแต่งคำ ถ้าเป็นญาติห่างๆ ก็ไม่ค่อยเคร่งครัดนัก อาจแต่งดำขาว ระยะเวลาไว้ทุกข์อาจเป็น 1 ปี 100 วัน 50 วัน หรือปลดทุกข์ทันทีหลังจากบรรจุอัฐิแล้ว ในวันปลดทุกข์จะมีการทำบุญถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายอีกครั้งหนึ่ง
    
     พิธีฝังศพชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดตรัง พิธีศพชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ปฏิบัติแบบเรียบง่ายตามศาสนบัญญัติ เมื่อมุสลิมตายลง เพื่อนบ้านจะไปให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ตาย อาจมีการบอกกันด้วยวาจาหรือตีกลองของมัสยิดเป็นการบอกข่าวว่ามีคนตายในหมู่บ้าน
     พิธีศพของมุสลิมจะใช้วิธีการฝัง โดยปกติแล้วจะต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง เพราะถือว่าไว้นานจะทำให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่ต้องเสียใจเพิ่มมากขึ้น นอกจากมีปัญหาเกี่ยวข้องกับกฎหมายบ้านเมือง เพื่อนบ้านจะช่วยเหลือกันอย่างรวดเร็ว ช่วยขุดหลุมที่สุสาน (กุโบร์) ทำโลงศพด้วยไม้กระดานแบบง่ายๆ เพราะอิสลามถือว่าการตายเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังอีกโลกหนึ่ง ผู้ไปช่วยงานหรือเยี่ยมครอบครัวของผู้ตายแต่งกายธรรมดา ไม่มีการแต่งดำไว้ทุกข์ หลายท้องที่นิยมนำสิ่งของ หรือเงินมอบให้แก่ครอบครัวผู้ตายเป็นการร่วมทำบุญ
     การปฏิบัติต่อศพ (มัยยิต) ก่อนนำไปฝัง จะมีการอาบน้ำทำความสะอาดศพ แล้วห่อด้วยผ้าขาว ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีละหมาดให้แก่ผู้ตายซึ่ง เรียกว่า ละหมาดญะนาซะห์ซึ่งอาจจะทำที่บ้านของผู้ตาย หรือนำศพไปทำพิธีละหมาดให้ที่มัสยิดก็ได้ เมื่อมีการเคลื่อนศพ ผู้ที่นั่งอยู่หรือทำงานอยู่ในทางศพผ่าน จะยืนขึ้นเป็นการเคารพศพและตามไปส่งศพถึง กุโบร์
     การฝังศพ มีการขุดหลุมลึกพอสมควร ฝังศพในท่านตะแคงขวา หันหน้าไปทางทิศกิบลัต(อยู่ทางทิศตะวันตก) หลังฝังศพเรียบร้อยแล้วใช้ก้อนหินหรือหลักไม้สั้นๆ 2 ท่อนเรียก ตาหนา ปักด้านศีรษะและปลายเท่าเป็นเครื่องหมายไว้บนหลุมศพ ถ้าเป็นผู้ชายจะทำตาหนามีลักษณะกลม ผู้หญิงจะมีลักษณะแบน ต่อจากนั้นผู้นำศาสนาก็จะอ่านดุอา (คำขอพร) ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ผู้ตาย
     หลังจากฝั่งศพแล้วมีประเพณีที่ผู้อยู่ข้างหลังมักปฏิบัติ คือ การเยี่ยมสุสานเพื่อให้ระลึกถึงความตาย ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มีการจัดทำบุญ เรียกว่า นุหรี ที่บ้านหรือสุเหร่าเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย ซึ่งจะทำกันในวันตายและช่วงระยะ 3 วัน 7 วัน 40 วัน หรือ 100 วัน และตามความเหมาะสม บางแห่งที่จัดให้มีการทำบุญ 40 วัน เจ้าภาพจะจัดพิมพ์ประกาศหรือบอกกล่าวแก่ญาติมิตรให้ทราบและมาร่วม มีการเลี้ยงอาหารโดยเชิญผู้น้ำศาสนามาร่วมขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า
     พิธีศพของไทยมุสลิมในจังหวัดตรังส่วนใหญ่ปฏิบัติเรียบง่ายตามหลักการของศาสนาดังที่กล่าวแล้ว สำหรับส่วนที่นอกเหนือไป เช่น วันตายเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาเยี่ยม การทำบุญให้แก่ผู้ตายเมื่อครบ 3 วัน 7 วัน หรือ 40 วัน การก่อสร้างหลุมศพให้สวยงาม หรือ การนำอาหารหวานคาวไปทำบุญที่กุโบร์ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดผสมผสาน ซึ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม
 
     พิธีฝั่งศพชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนในท้องถิ่นตรังเมื่อตายลงก็จะนำศพใส่โลงไม้หนาขนาดใหญ่มีรูปทรงเฉพาะตัว เรียกว่า โลงหัวหมู มีความเชื่อเกี่ยวกับการจัดซื้อโลงศพว่าจะเพิ่มราคาสูงกว่าที่ผู้ขายบอก ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ญาติมิตรที่อยู่มีความเป็นอยู่เจริญรุ่งเรืองขึ้น ญาติมิตรมีการไว้ทุกข์แก่ผู้ตาย และมีพิธีเซ่นไหว้คำนับศพตามประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ดินแดนดั้งเดิม
     การจัดงานศพก่อนพิธีฝัง มีการตั้งศพสวดบำเพ็ญกุศลและจัดเลี้ยงแขกเช่นเดียวกับงานศพชาวไทยพุทธ สำหรับเรื่องอาหารอาจแตกต่างไปบ้างในวันเข้าการ คือมักจะจัดอาหารประเภทจานเดียว เช่น ก๋วยเตี๋ยว หมี่ขนมจีน ที่เป็นข้าวก็มี แต่ไม่ใช้แกงเนื้อวัว ส่วนขนมแห้งขนมสดค่อนข้างจะมากเป็นพิเศษ
     การแต่งกายไว้ทุกข์ ปกติแต่งดำ และมีเครื่องหมายบอกฐานะความสัมพันธ์กับผู้ตาย ลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย ลูกสะใภ้ ญาติแต่ละฝ่ายแต่ละชั้น จะมีเครื่องหมายเฉพาะ
     ในวันฝังก็จะนำศพไปยังสุสานก่อนยกศพจะมีการเซ่นไหว้หมูย่าง ซึ่งลูกหลานและญาติมิตรนำมาเซ่นไหว้คนละตัวหรือกลุ่มละตัว หลังจากนั้นก็ใช้เป็นอาหารเลี้ยงแขกควบคู่กับหมี่หรือข้าว
     การเคลื่อนศพไปสุสาน นิยมจัดขบวนแห่ใหญ่โต มีรถของญาติมิตรเข้าขบวนยาวเหยียดไปตามถนน รถรับจ้างก็จะมาเข้าขบวนด้วย ถือเป็นการส่งศพ เจ้าภาพจะตอบแทนด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าขาวม้าผูกให้รถทุกคน บางงานก็ให้ซองใส่เงินเรียกว่า อั่งเปา
     เสร็จพิธีฝังศพแล้วลูกหลานจะนำกระถางธูปกลับบ้าน จัดทำป้ายชื่อผู้ตายวางรวมไว้บนหิ้งบูชาบรรพบุรุษของตระกูล และดูแลเซ่นไหว้อยู่มิได้ขาด ส่วนที่หลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ย ก็จะมีการทำบุญเช็งเม้งเป็นประจำทุกปี
 
     การแต่งงานของชาวไทยพุทธ ชาวตรังโดยทั่วไปมักจะเป็นคนหวงลูกสาว ถ้ามีผู้มารักชอบพอก็จะต้องแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณีเสียก่อน จะชิงสุกก่อนห่ามไปอยู่ร่วมกันก่อนที่ผู้ใหญ่จะรับทราบนั้นไม่ได้ หากฝ่ายชายได้เห็นฝ่ายหญิงและชอบพอก็จะเริ่มต้นด้วยการไปเกี้ยวพาราสีซึ่งใช้สำนวนว่าบ้าหญิง แต่ก่อนหนุ่มสาวจะพบกันได้ช่วงเทศกาลงานประเพณีต่างๆ หรือฤดูเกี่ยวข้าวที่มีการ ซอ หรือลงแขกช่วยเหลือกัน บางรายก็มีแม่ชัก (แม่สื่อ) ช่วยเหลือประสานสัมพันธ์ ถ้าผู้ใหญ่ฝ่ายชายเห็นดีด้วยก็จะไปแยบ หรือแยบเมีย คือทาบทามนั่นเอง หากฝ่ายหญิงตกลยินยอมก็จะตก คือเรียกสินสอดทองหมั้นตามธรรมเนียม จะตกเป็นเงินหัวขันหมาก แหวน สร้อย หรืออื่นๆ ตามแต่จะตกลงกันและจัดการหาฤกษ์ยามกำหนดวันหมั้นวันแต่งต่อไป ส่วนใหญ่จะนิยมสู่ขอและแต่งกันในเดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 11 เดือน 12
     เมื่อหมั้นกันไว้แล้วทั้งสองฝ่ายจะไปเยี่ยมหาสู่กันได้ ช่วยเหลืองานกันตามสมควร ในสมัยก่อนฝ่ายชายจะไปช่วยฝ่ายหญิงทำนาเป็นการ ฝากเหฺมฺรอ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายดูนิสัยใจคอต่อกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่สามารถจะอยู่กันได้ก็จะยกเลิกการหมั้น เรียกว่า ตัด หากเห็นว่าจะอยู่เป็นคู่ครองต่อไปได้ ก็จะตกลงนัดหมายวันฤกษ์ยามดีจัดพิธีแต่งงานกันต่อไป ฝ่ายสาวที่มีคู่หมั้นแล้วมักจะถูกถามข่าวคราวว่า เมื่อไรจะกินเหนียว ปัจจุบันการฝากเหฺมฺรอหาได้ยากแล้ว เพราะหนุ่มสาวส่วนใหญ่มีงานประจำทำนอกบ้าน ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวในระยะชอบพอดูใจกันนั้นถือว่าเป็นแฟนกัน แล้วก็เข้าสู่การหมั้นการแต่งในคราวเดียวกัน คำว่าคู่หมั้นจึงค่อยๆ หายไป
     ในการจัดพิธีหรือแต่ง ฝ่ายชายต้องจัดเตรียมขันหมากตามประเพณี คือ นิยมจำนวนคี่ เช่น 5 ขัน 7 ขัน 9 ขัน 11 ขัน เป็นต้น มีขันหมากหลักเป็นขันหมากหัว 1 ขันหมากคอ 1 และขันหมากคาง 1 การจัดขันหมากจะจัดแต่งตามที่ถือปฏิบัติต่อกันมา โดยมีหมอหรือผู้รู้มาจัดตกแต่ง มีความเชื่อเกี่ยวกับผู้แต่งขันหมากหรือผู้ที่ถือขันหมากว่าต้องเป็นผู้มีศีลธรรม น่าเชื่อถือ และประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส จะเป็นพ่อหม้ายหรือแม่หม้ายไม่ได้ สิ่งที่ใส่ในขันหมากคือ หมากพลูและขนม นอกจากนี้จะจัดสินสอดของหมั้น เช่น เงิน แหวนหมั้น สร้อย ไปหมั้นตามที่ตกลงกันในวันทาบทาม
     การเตรียมงานแต่ง ต้องมีการบอกกล่าวญาติมิตร แต่เดิมใช้วิธีบอกหมาก คือเจ้าภาพแต่ละฝ่ายจะจัดหมากพลูเป็นคำๆ ไปบอกเชิญญาติๆ และเพื่อนบ้านให้มาร่วมงาน ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบัตรเชิญ ที่ยังบอกหมากก็ใช้ลูกอมแทนหมาก เพราะคนสมัยนี้ไม่กินหมากกันแล้ว
     ที่บ้านเจ้าบ่าวจะมีการจัดขันหมาก ขันหมากแต่งจะจัดจำนวนมากกว่าตอนสู่ขอ เช่น ตอนสู่ขอจัด 7 ขัน ในตอนแต่งงานจะจัดมากกว่า 7 ขัน และเป็นจำนวนคี่ จะเป็น 9 ขัน 11 ขัน หรือ 13 ขัน ส่วนบ้านเจ้าสาวก็เตรียมสถานที่พิธีแต่ง
     วันแต่งงานฝ่ายชายจัดขันหมากและสิ่งของอื่น พร้อมทั้งจัดเครื่องเซ่น วักด้ำ เพื่อนำเซ่นไหว้บูชาตายายที่บ้านเจ้าสาว แล้วมีการไหว้ญาติผู้ใหญ่ หรือพิธีอื่นๆ ตามขั้นตอนประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น แขกที่ได้รับเชิญไปร่วมในงานก็จะร่วมรับประทานอาหาร ในตอนค่ำวันแต่งงานจัดให้มีการ เรียงสาดเรียงหมอน ส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าหอ
     อาหารในงานแต่งงานชนิดหนึ่งคือ เหนียวกวน หรือ เหนียวแก้ว ซึ่งญาติมิตรเพื่อนบ้านมาช่วยกันจัดห่อเหนียว โดยปั้นเหนียวเป็นก้อนเล็กๆ ใส่กระดาษแก้วสีห่อให้สวยงามสำหรับใช้เลี้ยงแขก ซึ่งมักจะเป็นในช่วงวันเตรียมงานและต้อนรับเจ้าบ่าว อันเป็นที่มาของสำนวน กินเหนียว ซึ่งหมายถึงแต่งงาน บางงานจัดเลี้ยงข้าวเหนียวแกงไก่ด้วย ส่วนการจัดเลี้ยงนั้นบางงานอาจเลี้ยงแขกตอนเที่ยงต่อจากพิธีแต่ง แต่บางงานจัดเลี้ยงขบวนขันหมากในตอนเที่ยงแล้วจะจัดเลี้ยงแขกอีกครั้งในตอนเย็น
     แต่เดิมมีความนิยมอย่างหนึ่งในพิธีแต่งงานที่จังหวัดตรัง คือให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งรถที่ตกแต่งสวยงามจัดเป็นขบวนแห่รอบตลาดด้วย
     การจัดพิธีแต่งงานของแต่ละท้องถิ่นอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือเป็นการรับรองคู่บ่าวสาวที่จะอยู่ร่วมกันให้ญาติมิตรได้รับรู้ สร้างความสัมพันธ์ของญาติทั้งฝ่าย 2 ฝ่ายตามที่เรียกว่าเป็น ดองกัน ปัจจุบันประเพณีการแต่งงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง แต่พิธีการบางอย่างก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการจัดขันหมากสู่ขอกันตามประเพณี การถือเอาฤกษ์ยามดีในการจัดพิธีของทั้งสองฝ่าย อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยังสืบทอดกันต่อมา
 
     การแต่งงานของชาวไทยมุสลิม การแต่งงานของชาวไทยมุสลิมต้องเป็นไปตามศาสนบัญญัติ กล่าวคือ ต้องแต่งงานกับคนที่เป็นมุสลิมด้วยกัน จะแต่งงานกับคนต่างศาสนาไม่ได้ ดังนั้น ในกรณีที่เป็นคนนอกศาสนาจะต้องให้เข้านับถือศาสนาอิสลามด้วยความศรัทธาเสียก่อน
     การสมรสในอิสลาม หมายถึง การที่ชายหญิงต้องมาอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยา เป็นการสร้างครอบครัวขึ้นใหม่โดยต้องผ่านการนิกะห์ (พิธีสมรส) การเลือกคู่ครองต้องเป็นมุสลิมด้วยกัน ไม่แต่งงานกับบุคคลที่ศาสนากับหนดห้ามไว้ คือกับผู้ที่มีสายเลือดเดียวกันโดยกำเนิด ที่เป็นญาติใกล้ชิดกัน เช่น บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ฯลฯ และทั้งสองฝ่ายต้องตกลงใจโดยไม่มีการบังคับ เมื่อชายหญิงคู่ใดผ่านการเจรจาระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงให้สมรสกันได้ ก็จะมีการทำพิธีสู่ขอกันเป็นทางการ บางแห่งมักตัดพิธีนี้ออก การทำพิธีหมั้นก็เช่นเดียวกัน อาจทำพิธีหมั้นในการสู่ขอหรือกำหนดไปทำกันในวันแต่ง บางแห่งยึดถือเพียงศาสนบัญญัติก็จะไม่มีการทำพิธีหมั้นแต่อย่างใด สำหรับเงินสินสอดทองหมั้นถือเป็นประเพณีที่ฝ่ายชายต้องมอบให้ตามจำนวนที่ผูปกครองฝ่ายหญิงตก ซึ่งเงินสินสอดเหล่านี้จะได้กับผู้ปกครองฝ่ายหญิง ส่วนของหมั้นมักจะเป็นสิ่งได้กับหญิงโดยเฉพาะ ตามหลักศาสนากำหนดให้มีเพียงเงินหรือสิ่งของที่ชายจะต้องมอบให้หญิงซึ่งเรียกว่า มะฮัร และ มะฮัรนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของเธอโดยเฉพาะคล้ายกับของหมั้น
     ในวันแต่งงาน ช่วงที่สำคัญที่สุดคือการนิกะห์ หมายถึงการยินยอมของผู้ปกครองฝ่ายหญิง เจ้าบ่าวยอมรับการสมรสกับเจ้าสาว มีพยานรู้เห็น 2 คน การนิกะห์ ถ้าเปรียบการจดทะเบียนสมรสเป็นการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง การนิกะห์คือการจะทะเบียนสมรสทางศาสนา การสมรสของมุสลิมต้องผ่านการนิกะห์ และการนิกะห์จะสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยเจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งผ่านการเจรจาตกลงจะทำการสมรสกัน วะลี คือผู้ปกครองฝ่ายหญิงตามศาสนบัญญัติ พยานจำนวน 2 คน ต้องมีมะฮัรตามที่กล่าวแล้ว พร้อมกับกล่าวอบรมคู่บ่าวสาว และการกล่าวตอบรับยืนยันในการสมรสของเจ้าบ่าว
     ขั้นตอนการนิกะห์ สถานที่ทำพิธี ทำที่บ้านของฝ่ายหญิงหรือที่มัสยิดใกล้บ้าน เมื่อองค์ประชุมพร้อมแล้ว ผู้กล่าวการอบรม (คุฏบะฮ์นิกะห์) มักจะเป็นอิหม่ามหรือผู้นำศาสนาเริ่มด้วยการอ่านโองการในคัมภีรือัลกุรอ่านแล้วนำให้เจ้าบ่าวกล่าวคำปฏิญาณ 2 ประโยค ต่อจากนั้นก็กล่าวสั่งสอนให้ปฏิบัติตนอยู่ในแนวทางของศาสนาหรืออบรมเกี่ยวกับการครองคู่ของสามีภรรยาตามที่เห็นสมควร แล้วผู้ทำพิธีซึ่งก็คือ วะลี แต่ส่วนมากจะมอบหมายให้อิหม่ามหรือผู้นำศาสนาในหมู่บ้านเป็นผู้ทำพิธีแทน
     พิธีสมรสของมุสลิมในจังหวัดตรัง นอกจากจะปฏิบัติตามศาสนบัญญัติแล้วยังเป็นการผสมผสานเข้ากับประเพณีท้องถิ่นด้วย เช่น พิธีสู่ขอ พิธีหมั้น พิธีแต่ง การจัดขันหมากหรือการออกบัตรเชิญเลี้ยงอาหาร เป็นต้น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 80927
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย