IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-พราหมณ์ในจังหวัดตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-พราหมณ์ในจังหวัดตรัง

     พราหมณ์ในจังหวัดตรัง หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับพราหมณ์ในจังหวัดตรังไม่ปรากฏชัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมืองตรังเป็นเพียงทางผ่านของอารยธรรมจากอินเดียเข้าสู่ศูนย์กลางความเจริญที่อยู่ลึกเข้าไป คือ ศรีวิชัย นครศรีธรรมราช และพัทลุง จึงไม่ปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุหรือโบราณสถานใดๆ ที่เกี่ยวกับพราหมณ์ในจังหวัดตรัง จะมีเพียงบุคคลผู้สืบสายสกุลจากพราหมณ์
     สกุลพราหมณ์ในจังหวัดตรังมีอยู่ 2 สกุล คือ รังษี กับ สังขพราหมณ์เป็นตระกูลที่มีบรรพบุรุษเป็นพราหมณ์จากตำบลควนหาด จังหวัดพัทลุง เข้ามาตั้งรกรากที่ตำบลเกาะเปียะ อำเภอย่านตาขาว ต่อมามีบางส่วนได้แยกย้ายไปอยู่ที่ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรังและตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง
     พราหมณ์ในจังหวัดได้รับยกย่องจากทางบ้านเมืองให้เป็นผู้ร่วมประกอบพิธีทั้งรัฐพิธีและราชพิธี บุรุษผมมวยชุดขาวผู้เป่าสังข์เสียงกังวาลคือสัญลักษณ์ของพราหมณ์ ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเมืองตรังเมื่อ พ.ศ. 2433 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเมืองตรัง เมื่อ พ.ศ. 2452 ที่วัดควนธานี ก็จัดให้มีพิธีพราหมณ์ดังความว่า
     พราหมณ์ได้สวดถวายพระพร และประน้ำมนต์เป่าสังข์ตีบัณเฑาะว์ด้วย  พราหมณ์เมืองนี้เป็นเชื้อพราหมณ์แท้ แต่ผมใช้เกล้ามวยเป็นอย่างบางกอก ไม่ได้มุ่นเมาลีอย่งแบบเก่า การแต่งกายใช้ผ้าขาวนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อผ้าแขนคับขาวยาวราวๆ เช่าห่มผ้าขาวสไบเฉียง มีผ้าโพกด้วย
     หัวหน้าพราหมณ์เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากทางบ้านเมืองให้มีบรรดาศักดิ์และทำหน้าที่ปกครองดูแลพราหมณ์ด้วยกัน หัวหน้าคนแรกในเมืองตรังคือ ขุนไชยสงคราม ต่อมาเป็นขุนชำนาญพิธี ขุนพรหมสมัย (นวน รังษี) พราหมณ์ขุนพรหมสมัยยังได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลหมู่พราหมณ์ในจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีด้วย กล่าวกันว่าเป็นผู้ที่ได้รับความยอมรับนับถืออย่างยิ่งจากพราหมณ์ในแถบนี้
     การเป็นพราหมณ์ต้องสืบทอดโดยตรงทางสายเลือด และมีคำสั่งจากบิดาให้เป็นพราหมณ์ แต่ไม่ได้บังคับ แต่เดิมพราหมณ์ที่จังหวัดตรังต้องไปทำพิธีบวชที่จังหวัดพัทลุง ต่อมาภายหลังมีสถานที่ทำพิธีแห่งเดียวเท่านั้นคือ ที่โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพฯ ผู้ที่บวชพราหมณ์แล้วจะเป็นพราหมณ์ไปตลอดชีวิต
     หลักปฏิบัติของพราหมณ์และผู้มีศรัทธาในลัทธินี้จะถือศีล 5 เช่นเดียวกับในพระพุทธศาสนา เว้นการเสพมังสัง 10 ประการ เดิมนิยมการสมรสอยู่ในหมู่พราหมณ์ด้วยกัน ประเพณีเกี่ยวกับการตายนั้น ถือว่าการสิ้นลมปราณในอาการนั่งเป็นการถูกต้องและเป็นบุญ ส่วนพิธีศพอนุโลมจัดตามประเพณีท้องถิ่น
     พราหมณ์ในจังหวัดตรังได้สืบทอดความเป็นพราหมณ์มาประมาณ 4 – 5 ชั่วคน ใน พ.ศ. 2505 มีพราหมณ์รุ่นสุดท้ายอยู่ 4 คน เป็นพราหมณ์ในตระกูลรังษี ที่เกาะเปียะ 3 คน คือพราหมณ์คล้าย พราหมณ์เขียด และพราหมณ์หีด พราหมณ์ตระกูลสังขพราหมณ์ที่หนองตรุด 1 คน คือ พราหมณ์ปลอด ปัจจุบันที่อำเภอย่านตาขาวมีพราหมณ์เจือ รังษีเป็นพราหมณ์เพียงคนเดียวที่ยังคงสืบทอดการประกอบพิธีต่างๆ

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 20265
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย