IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-นิทาน ตำนาน:ที่มาของชื่อบ้านนามเมืองตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-นิทาน ตำนาน:ที่มาของชื่อบ้านนามเมืองตรัง

     ความหมายของคำว่า  ตรัง  มีผู้พยายามหาข้อสันนิษฐานจากเหตุผลต่างๆ ประกอบเพื่ออธิบายความหมายและที่มาของคำว่า  ตรัง  ไว้หลายแนวความคิด  แต่ในที่นี้ยกมาเฉพาะที่เป็นความหมายของำว่า ตรัง ที่ตรวจสอบจากเอกสารแล้วว่ามีแหล่งที่มาชัดเจนสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักในการสันนิษฐานต่อไปได้ ดังนี้
     ตรัง มาจากคำสันสกฤต  เขียน ตรังค- ตรังค์ อ่านว่า ตะรังคะ ตะรัง แปลว่า ลูกคลื่น  ในเอกสารจดหมายเหตุเก่าๆ เขียนชื่อเมืองตรังว่า ตรังค์ หรือ ตรังคบุรี ตามความหมายนี้ อาจเป็นชื่อที่เรียกตามสภาพทะเลหน้าเมืองตรังที่มีคลื่นลมอยู่เสมอก็เป็นได้ หรือเรียกตามเนื้อที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นที่ลอนลูกฟูกสูงๆ ต่ำๆ คล้ายกับลูกคลื่นในทะเล
     ตรัง เป็นภาษามลายู มาจากคำว่า เตอรัง (terang) แปลว่า สดใส สว่างแล้วแจ้ง  ซึ่งอาจมาจากชาวมลายูฝั่งตะวันตกที่เดินทางผ่านเมืองตรังไปค้าขายกับนครศรีธรรมราชหรือกรุงศรีอยุธยามาถึงดินแดนแห่งนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณเป็นปกติตามตารางการเดินทาง  จึงเรียกดินแดนนี้ว่า ตรัง แปลตามความหมายนี้ได้ว่าเมืองตรังเป็นเมืองแห่งรุ่งอรุณ
     ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง สรุปได้ว่า ตรัง มาจากภาษาเขมร ถอดเสียงเป็นอักขระไทยว่า เฎีมเตรียง แปลว่า ต้นลาน ซึ่งมีชื่อนี้ในที่อื่นๆ อีก เช่น บ้านตรัง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร บ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และบ้านไตรตรัง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ชื่อบเนไตรตรังนี้อาจแปลว่า บ้านต้นลานสามต้น
     ตรังมี นา จากการศึกษาชื่อตำบลต่างๆ ของจังหวัดตรังในทำเนียบท้องที่ พ.ศ. ๒๕๔๑ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีทั้งหมด ๘๗ ตำบล ปรากฎว่ามีแนวการ ตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศ ๖๘ ตำบล คิดเป็นร้อยละ ๗๘.๑๖ ของชื่อตำบลทั้งหมด โดยใช้ชื่อนำหน้าเป็น รา โคก รวน เขา ทั่ง คลอง วัง บ่อ หนอง ท่า บาง ห้วย เกาะ อ่าว หาด และแหลม เช่น นาบินหลา นาชุมเห็ด โคกหล่อ โคกยาง ควนเมา ควนธานี เขาขาว เขาปูน ทุ่งกระบือ ทุ่งต่อ คลองลุ คลองชีล้อม วังวน วังลำ บ่อน้ำร้อน บ่อหิน หนองตรุด หนองช้างแล่น ท่าข้าม ท่าสะบ้า บางตี บางด้วน ห้วยยอด ห้วยนาง เกาะสุกร เกาะลิบง อ่าวตง หาดสำราญ และแหลมสอม เป็นต้น ส่วนที่เหลือ ๑๙ ตำบล ตั้งชื่อตามลักษณะอื่นๆ และจากชื่อตำบลที่มีแนวการตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว จะใช้คำว่า นา นำหน้ามากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ติดปากกันว่า  พัทลังมีดอน นครมีท่า ตรังมีนา สงขลามีบ่อ  คำกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องชื่อบ้านนามเมืองของจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะ ชื่อบ้านนา จังหวัดตรัง
     ที่นาเมืองตรังนั้น บุกเบิกกันตามหุบเขาช่องควนเป็นส่วนใหญ่ ที่นาเพียงเล็กน้อยจึงกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง ทำให้ชื่อหมู่บ้านมีคำว่านานำหน้ามาก ที่ราบลุ่มแม่น้ำตรังเท่านั้นที่มีที่นากว้างขวางอยู่บ้าง และจากบทลิเกป่าจังหวัดตรังบทหนึ่งก็ได้สะท้อนลักษณะภูมิประเทศในส่วนที่เป็นท้องทุ่งนาไว้ว่า
               เมืองตรังแก้วข้า                          ยังมีทุ่งนาอยู่หน้าบ้าน
     น้ำใสไหลตระหง่าน                               หวงไว้ทำไมไม่ปลูกบัว
     น้องสาวโตใหญ่                                    ทนอยู่ทำไมไม่เอาผัว
     หวงไว้ทำมไม่ปลูกบัว                          เวลาทำความชั่วอายชาวบ้าน
     ชาญไชยจันทร์ และพาสน์ พลชัย ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่พระยารัษฎาฯ สนับสนุนส่งเสริมแกมบังคับให้ประชาชนชาวตรังทำนา เพื่อให้มีข้าวกินโดยไม่ต้องซื้อ  และยกชื่อบ้านนามาร้อยเป็นกลอนไว้ว่า
               ถึงฤดูทำนาพระยารัษฎ์               ลงมือจัดตรวจแดนตามแผนผัง
     ให้ชาวนาทำนาเต็มกำลัง                      อย่าให้พลั้งทุกปีพิมีกิน
     นาโยงเหนือนาโยงใต้ ทำให้หมด         ทั้งนาปดรีบระดมสมถวิล
     นาโต๊ะเป้านาป้อพอทำกิน                     ทำให้สิ้นนาหว้านาทุ่งตาล
                                                  ฯลฯ
     สมเจตนา มุนีโมโนย ก็ได้ร้อยกรองชื่อบ้านนาของจังหวัดตรังไว้อย่างลงตัวว่า
     นาเมืองเพชร นาโพระ นาโต๊ะหมิง         นาหัวทิง นาพระ นาละหาน
     นาหมื่นศรี นาหว้า นาทุ่งตาล                นาชุมเห็ด นาลาน บ้านนาเล
     นาหยีค้อม นายอมงาม นาท่ามเหนือ    นาทุ่งนุ้ย นาเกลือ นาเหมร
     นาโต๊ะเก็ม นาโต๊ะกา นาลิเป                 นาหานเพ นาข่า นาคมบาง
     นาชุมเห็ด นาหนองคล้า                        นาหนองแฝก นาแขก นานิน นาหินขวาง
     นาชุมแสง นาโต๊ะคล้า นาโต๊ะนาง         นาทองหลาง นามาบกลั้ง นารังกา
     นาปะขอ นาป้อ นาโต๊ะเป้า                    นาหลังเขา นาบ่อหิน นาบินหลา
     นาหลวง นาลาน บ้านนา                       นาไม้ไผ่ นาฟ้าผ่า นานอน
     นาแฟบ นายาว นาข้าวเสีย                    นาทุ่งเปียะ นายายทอง นาหนองขอน
     นาปด นาไห นาทอน                             นาท่อม นาบอน นายูงงาม
     นาหมื่นราช นาทุ่ง นาลุงช่วย                นานางสวย นานายขำ นาท่าม
     นาวง นายา นางาม                               นาต้นขาม นาตาล่วง นาโยง
                                                   ฯลฯ
     ชื่อบ้านนามเมืองตรังส่วนใหญ่ มีแนวการตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวแล้ว ส่วนการตั้งชื่อตามลักษณะอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงอีกประการหนึ่งคือ  การตั้งชื่อโดยอาศัยรูปลักษณะต่างๆ  ที่ปรากฎให้เกิดความรู้สึกและจินตนาการ  ซึ่งมักยกเป็นตำนานหรือนิทานเล่าประกอและอ้างไปสัมพันธ์กับสถานที่อื่นๆ ที่ใกล้เคียง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

     เขาขาด-เขาเศษ  เป็นนิทานประเภทอธิบายเกี่ยวกับกำเนิดภูเขาต่างๆ ในจังหวัดตรัง คือ เขาขาด เขานายพัน ในตำบลบางกุ้ง อำเภอห้วยยอด และเขาเศษ ในตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ เล่ากันมากในจังหวัดตรัง มีเนื้อความสรุปได้ดังนี้
     ครั้งหนึ่งพระรามตามกวางทองมาในบริเวณอำเภอห้วยยอด กวางปีนป่ายภูเขาลูกหนึ่งในท้องที่ตำบลบางกุ้ง พระรามก็กวดตามไปอย่างกระชั้นชิด ทำให้ภูเขาลูกนั้นขาดออกเป็นช่องว่าง จึงเรียกชื่อว่า เขาขาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรอยกวางและรอยพระรามปรากฎอยู่บนหินที่ภูเขานี้ ขณะที่ติดตามกวางไปนั้น พระรามก็ทรงใช้ศรยิงกวาง แต่ลูกศรปถูกเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกในตำบลเดียวกัน เป็นเหตุให้ภูเขาลูกนี้ทะลุเป็นรูโหว่มองเห็นได้อย่างชัดเจนจากที่ไกลๆ ปรากฎมาจนปัจจุบันนี้ เรียกว่าเขานายพัน เศษหินส่วนที่ทะเลก็ติดลูกศรไปตกเป็นภูเขา อยู่ในท้องที่ตำบลเขาวิเศษ จึงเรียกชื่อว่า เขาเศษ
     เรื่องเขาเศษนี้ยังมีตำนานอีกสายหนึ่งว่า มีพระสงฆ์เดินทางมาทางเรือนำสิ่งของมีค่าจะไปร่วมสร้างพระธาตุที่เมืองนครฯ เมื่อถึงบริเวณนี้เกิดเรืออับปาง พระสงฆ์และผู้ติดตามได้นำสมบัติไปเก็บไว้บนภูเขาและอาศัยอยู่จนเสียชีวิต โดยทรัพย์สมบัติยังคงอยู่ และมีลายแทงว่า  ตาแบกยายทูน  ทองทั้งมูลอยู่ใต้ตาแบก ใครคิดแตกกินไม่รู้สิ้นเหลย  ทั้งยังมีเรื่องปาฎิหาริย์ว่าในวันที่ฝนตกลมแรงจะมีผู้มองเห็นพระสงฆ์รูปใหญ่ยืนอยู่บนภูเขา ทั้งเคยมีผู้พบแก้วแหวนเงินทองและพระพุทธรูปเป็นประเภทพระพิมพ์ในถ้ำ  ซึ่งถ้าใครนำลงมาจากภูเขาก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ จนต้องนำกลับไปคืน เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์เหล่านี้ทำให้ได้ชื่อว่าเขาพระวิเศษ  ต่อมาเสียงสั้นลงเป็นเขาวิเศษ และเขาเศษในที่สุด

     ศาลพระม่วง  เป็นนิทานประเภทอธิบายเกี่ยวกับชื่อสถานที่  อยู่ตรงบริเวณปากน้ำตรัง ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง ได้แก่ชื่อบ้านพระม่วง ศาลเจ้าพระม่วง และเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน ทั้งในเขตจังหวัดตรังและใกล้เคียง เรื่องนี้เล่ากันทั่วไปในจังหวัดตรัง
     นิทานมีว่า ตายายมีลูกชายคนเดียว เมื่อลูกชายโตขึ้นไปได้บุตรสาวของเศรษฐี ซึ่งอยู่ต่างเมืองเป็นภรรยา  เศรษฐีมีเรือใหญ่หลายลำสำหรับเที่ยวค้าขายในต่างแดน  ชายหนุ่มได้รับมาดกของพ่อตาประกอบอาชีพเดินเรือค้าขายต่อมา  ครั้งหนึ่งเรือมาจอดที่ท่าน้ำบ้านเดิมตายายทราบข่าวจึงอยากไปเยี่ยมลูกชาย  โดยนำมะม่วงไปคนละผล  ตาตั้งใจว่าจะฝากลูกชายส่วนยายจะฝากลูกสะใภ้  ลูกชายเห็นพ่อแม่เป็นคนจนนุ่งผ้าขาดๆ ก็รู้สึกอายแก่ภรรยา  ไม่กล้ารับว่าเป็นพ่อแม่ขับไล่ไม่ยอมให้ขึ้นเรือ พร้อมกับด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตารู้สึกอับอายและเจ็บซ้ำอย่างมาก จึงขว้างผลมะม่วงขึ้นตลิ่งและลมจับถึงกับหงายหลังตกน้ำตาย  ส่วนยายก็เกิดอาการเช่นเดียวกับตา ตกน้ำตายเช่นกัน ต่อมามะม่วง ๒ ผลนั้นก็งอกเป็นต้นขึ้นมา ต้นของตามีกิ่งยื่นเข้าไปในแผ่นดินเหมือนไม่ใยดีต่อลูกชายอีกเลย  แต่ของยายมีกิ่งยื่นลงด้านทะเลเหมือนยังอาลัยอยู่
     หลังจากขับไล่ตายายแล้ว  ลูกชายก็ออกเรือเดินทางกลับบ้าน  ด้วยบาปกรรมจึงยังผลให้เรือถูกพายุล่ม  เครื่องใช้และสินค้าก็ลอยกระจัดกระจายไปเกิดเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยมีชื่อตามสิ่งนั้นๆ เช่น เกาะเภตรา เกาะหมู เกาะบัน เกาะนก เกาะลิบง เกาะหมาก ฯลฯ  ทั้งหมดอยู่ในทะเลอันดามัน ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
     เชื่อกันว่าต้นมะม่วงของตายายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีผู้บูชากันตลอดมา และเมื่อมะม่วงทั้ง ๒ ต้นตายไป ก็มีผู้สร้างศาลเจ้าขึ้นแทนที่ตรงบริเวณนี้ เรียกกันว่า  ศาลพระม่วง  อยู่ใกล้กับท่าเรือ ส่วนหมู่บ้านก็ชื่อว่า บ้านพระม่วง

     ปากเมง  เป็นนิทานบอกถึงที่มาของเกาะต่างๆ ในทะเลหน้าเมืองตรังคล้ายตำนานพระม่วงซึ่งเกี่ยวข้องกับทะเลเมืองตรังทางด้านใต้  ส่วนตำนานปาดเมงเกี่ยวข้องกับทะเลทางด้านเหนือ
     เนื้อเรื่องในตำนานกล่าวถึงเฒ่าเมงแห่งหมู่บ้านชายทะเลมีลูกสาวสวยชื่อนางมุกความงามของนางเป็นที่ถูกใจของบุตรชายพระยาลันตา  จึงได้มีการสู่ขอและตกลงกำหนดนัดวันแต่งงาน  ในวันแต่งงานขบวนเรือขันหมากก็ยกมาถึง  ทำพิธีต่างๆ เสร็จแล้วก็จะพาเจ้าสาวกลับเกาะลันตาในระหว่างเดินทางก็ถูกโจรสลัดปล้น ผู้คนในขบวนเรือบ่าวสาวร่วมกันต่อสู้แต่มิอาจต้านโจรสลัดได้  ล้มตายไปหลายคน  เช่น  เฒ่าเมง และนางมุกต้องทอดร่างกลายเป็นเกาะกลางทะเล ส่วนข้าวของในเรือก็กระจัดกระจายกลายเปนเกาะต่างๆ เช่น เกาะกระดาน เกาะไห เกาะเชือก เกาะแหวน เกาะม้า เป็นต้น เกาะเหล่านี้บางเกาะอยู่ในเขตปกครองของจังหวัดกระบี่

     หาดเจ้าไหม  หาดเจ้าไหมเป็นหาดทรายที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง  และฝั่งทะเลอันดามัน  มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า  ในครั้งที่โต๊ะฮ้าหวาหรือโต๊ะปังกะหวาเป็นเจ้าเมืองปกครองเกาะลิบงอยู่นั้น  ฝ่ายที่บ้านทุ่งค่ายหมู่บ้านในตำบลบางสัก  อำเภอกันตัง ก็มีพระยางอกเขี้ยวเป็นเจ้าเมืองปกครองอยู่ เจ้าเมืองทั้งสองนี้สนิทสนมกันมาก
     ต่อมามีเจ้าไหมซึ่งเป็นคนจีน คุมเรือสำเภาเข้ามาค้าขายกับเกาะลิบง  เกิดชอบทำเลที่ตั้งของเมืองทั้งสอง  จึงขออนุญาตต่อโต๊ะฮ้าหวาตั้งบ้านเรือนขึ้นสำหรับเป็นท่าเรือค้าขายอยู่มาวันหนึ่งเจ้าไหมเกิดความทะเยอทะยานอยากจะเป็นใหญ่ในแถบนี้แต่เพียงผู้เดียว  จึงไปยุยงพระยางอกเขี้ยวให้เข้าใจผิดกับโต๊ะฮ้าหวา แต่ไม่มีใครสามารถเอาแพ้ชนะกันได้
     ข่าวทราบไปถึงโต๊ะละหมัย  ซึ่งเป็นที่พระยางอกเขี้ยวและโต๊ะฮ้าหวาเคารพนับถือมาก  โต๊ะละหมัยเดินทางมาเจรจาให้ทั้งสองยุติสงคราม  ทำให้เจ้าไหมไม่พอใจและประกาศไม่ยอมเลิกการสู้รบกับโต๊ะฮ้าหวา  โต๊ะละหมัยโกรธมาก  สาปให้เจ้าไหมกลายเป็นหินซากของเจ้าไหมกลายเป็นภูเขาที่เรียกว่า  เขาเจ้าไหม  ส่วนชื่อบ้านทุ่งค่ายมาจากที่ตั้งค่ายของพระยางอกเขี้ยว
     ฝ่ายโต๊ะฮ้าหวากับพระยางอกเขี้ยว  โต๊ะละหมัยให้ตกลงเป็นมิตรกัน และยังยกแผ่นดินทั้งหมดในแถบนี้ให้เป็นเขตปกครองของโต๊ะฮ้าหวาอีกด้วย  โต๊ะฮ้าหวาจึงใช้เท้าถีบผนังถ้ำเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของแผ่นดิน ถ้าในเรื่องนี้คือถ้ำเขาโต๊ะแนะซึ่งอยู่ลึกเข้าปในคลองเจ้าไหม  ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง มีรอยที่ผนังถ้ำเหมือนรอยเท้า เชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าโต๊ะฮ้าหวา

     ราษฎร์นายก  ตำนานเรื่องนี้บ้านบ่อประดู่  หมู่ที่ ๓ ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด  ราษฎร์นายกได้สร้างลานกระบี่  สะสมสมัครพรรคพวกฝึกซ้อมกระบี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีพลพรรคฝีมือดี ๒ คน ชื่อตาขุนศรกับตาขุนสิทธิ์ การกระทำของราษฎร์นายกรู้กันกว้างขวางและเป็นที่เกรงขามในหมู่ชาวบ้าน
     ริมมาน้ำตรังในเขตตำบลนาวงต่อกับตำบลเขากอบ  ยังมีชายชราที่เชี่ยวชาญในศาสตราวุธและไสยศาสตร์คนหนึ่งชื่อตาหวาด  แกเกรงว่าจำไม่มีทายาทรับช่วงความรู้จึงเที่ยวเฟ้นหาตัวคน  ในที่สุดก็มุ่งเข้าหาราษฎร์นายก  โดยวันหนึ่งตาหราดแต่งตัวนุ่
งผ้ายาว  สะพายย่ามใส่หมากพลูและเข็มเย็บผ้า  รักแร้หนีบชิง (กะชิง) กางหั สะเอวข้างหนึ่งเหน็บยน (ตะบัน) แล้วเดินลอกวน (ถกผ้าเปิดกัน) ปยังลานกระบี่ของราษฎร์นายก ลูกสาวของราษฎร์นายกเห็นจึงบอกบิดาซึ่งกำลังกินข้าวอยู่ว่า  ไม่รู้ใครพ่อเหอ แก่อีตายแล้ว เดินลอกวานเข้าลานบี่
     ริมแม่น้ำตรังในเขตตำบลนาวงต่อกับตำบลเขากอบ  ยังมีชายชราที่เชี่ยวชาญในศาสตราวุธและไสยศาสตร์คนหนึ่งชื่อตาหวาด  แกเกรงว่าจะไม่มีทายาทรับช่วงความรู้จึงเที่ยวเฟ้นหาตัวคน  ในที่สุดก็มุ่งเข้าหาราษฎร์นายก  โดยวันหนึ่งตาหราดแต่งตัวนุ่งผ้ายาว  สะพายย่ามใส่หมากพลูและเข็มเย็บผ้า  รักแร้หนีบชิง (กะชิง) กางหัว สะเอวข้างหนึ่งเหน็บยน (ตะบัน) แล้วเดินลอกวาน (ถกผ้าเปิดก้น) ไปยังลานกระบี่ของราษฎร์นายก ลูกสาวของราษฎร์นายกเห็นจึงบอกบิดาซึ่งกำลังกินข้าวอยู่ว่า  ไม่รู้ใครพ่อเหอ  อีตายแล้ว เดินลอกวานเข้าลานบี่
     ราษฎร์นายกได้ยินคำลูกสาว  เหลียวมาเห็นตาหราดก็โมโห  เตะสำหรับแล้วคืนกระบี่คู่มือซึ่งเป็นกระบี่ม้วนวิ่งตรงเข้าไปใช้กระบี่ปัดป้องทำให้คู่ฟันตาหราด  ตาหราปัดป้องทำให้ดาบของราษฎร์นายกหักไปถึง ๒ เล่ม ยิ่งทำให้ราษฎร์นายกมีความโกรธหนัก  ตาหราดรู้ใจจึงดึงกริชที่เหน็บมาส่งให้  ราษฎร์นายกใช้เพลงกริชแทงตาหราด ไม่ว่าจะแทงไปกี่ครั้งตาหราดใช้ฝึกกริชรับได้ทุกครั้ง  ราษฎร์นายกโมโหยิ่งขึ้นเหวี่ยงกริชเข้าป่า  ตาหราดก็ยื่นยนตำหมากส่งให้ ราษฎร์นายกใช้ยนแทงตาหราดด้วยความมุมานะจะเอาชนะให้ได้  แต่แทงเข้ากระบอกยนทุกครั้ง ในที่สุดก็หมดมานะนั่งลงยกมือไหว้ขอให้เป็นอาจารย์ ตาหราดมีเจตนาอยู่แล้วก็รับปาก
     ทั้งสองก็พากันขึ้นนั่งบนบ้าน ราษฎร์นายกสั่งให้ลูกสาวโยนมะนาวจากในครัวให้เพื่อเติมน้ำพริก  ในขณะที่ลูกมะนาวลอยมาในอากาศ  ราษฎร์นายกก็จับดาบฟันมะนาวกลางอากาศออกเป็น ๒ ซีกแล้วบีบใส่น้ำพริก ตาหราดซึ่งนั่งกินอาหารอยู่รู้ว่าลูกศิษย์ยังไม่หมดความอวดดี
     จำเป็นต้องแสดงอะไรสักอย่างเพื่อให้ราษฎร์นายกยอมรับ  จึงดึงเข็มในย่ามออกมา เล็งตัวแมลงวันที่มาตอมกับข้าว  เมื่อแมลงวันบินขึ้นตาหราดก็ใช้เข็มปักอกทะลุร้อยไว้เต็มเข็ม  ราษฎร์นายกเห็นดังนั้นก็ไม่มีปฎิกิริยาอันใดอีก  เรื่องจึงเรียบร้อยได้เป็นศิษย์เป็นครูกันโดยดี
     หลังจากที่ราษฎร์นายกศึกษาวิชาจากตาหราดและสะสมสมัครพรรคพวกได้มากก็คิดกำเริบ  ยกพลจะไปตีเมืองนครศรีธรรมราช  ทางเมืองนครฯ ได้ข่าวก็ส่งทหารมาปราบ ทหารเมืองนครฯ ถูกตีพ่ายไปหลายครั้ง  แต่ในที่สุดก็ล้อมจับตัวราษฎร์นายกได้  และจะฆ่าโดยวิธีฟัน  แต่ศัสตราทั้งหลายทำอันตรายราษฎร์นายกไม่ได้จนทหารแทบหมดปัญญา  ต่อมมามีผู้แนะนำให้เอาไม้ทะลวงกัน  พวกทหารจึงฆ่าราษฎร์นายกตาย  ปัจจุบันมีชื่อเขาราษฎร์นายกอยู่ที่ตำบลควนเมา  อำเภอห้วยยอด  เล่ากันว่าเป็นสถานที่ประหารราษฎร์นายก
     ส่วนตาขุนศรกับตาขุนสิทธิ์สมุนคู่ใจของราษฎร์นายกต่างหนีไป  ตาขุนศรไปบวชเป็นพระและสร้างวัดคือวัดเกาเตา หรือในเตา ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด ต่อมาได้เป็นสมภารเมื่อมรณภาพแล้วกลายเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ มักปรากฎไปตามเส้นทางที่เดินทัพเป็นส่วนใหญ่ชาวบ้านเรียกว่า  ตาขุนศร หรือ ตาศร เวลาสำแดงให้ปรากฎจะเห็นเป็นงู  ชาวบ้านยกศาลาหลายแห่งไว้ต้อนรับ เรียกว่า ศาลาเทวดา เช่น ที่บ้านวังสมบูรณ์ ตำบลท่างิ้ว ที่วัดเกาะฐาน ตำบลเขากอบ ที่เกาะเทวดา ตำและที่วังเทวดา ตำบลหนองช้างแล่น เป็นต้น สำหรับตาขุนสิทธิ์ก็เอาอย่างตาขุนศร คือหนีไปบวชสร้างวัดและได้เป็นสมภารที่วัดเขาพระตั้งอยู่ที่ตำบลควนเมา อำเภอห้วยยอด หลังจากถึงแก่มรณภาพแล้วก็กลายเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน
     หลังจากที่ราษฎร์นายกตายแล้ว  ทางนครฯ  เกรงว่าจะมีคนดีขึ้นมาแทนที่  จึงสั่งให้สืบหาตัวผู้สนับสนุน  เมื่อรู้ว่าเป็นตาหราดก็ให้ทหารไปจับตัว  แต่ตาหราดไม่ยอมให้จับกลับสำแดงอิทธิฤทธิ์จับขอนไม้ที่ยืนเหยัยบอยู่แกว่งหมุนติ้วปาข้ามแม่น้ำตรังถูกปลายไม้ยางต้นที่อยู่ตรงข้าม  ปรากฎว่าปลายไม้ยางขาด  คนรุ่นก่อนเล่าว่าเคยเห็นไม้ยางยอดด้วน ชัดเจน เรียกว่า ยางตาหราด ปัจจุบันไม้ยางต้นนั้นล้มลงอยู่ในแม่น้ำตรัง

     วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์  วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เรียกกันว่าวัดในเตาบ้าง วัดเกาะเต่าบ้าง และวัดคูหาบ้าง
     ตำนานวัดเล่ากันมาว่า  ผู้สร้างวัดตอนเริ่มแรกคือตาขุนศรตามที่ปรากฎในเรื่องราษฎร์นายก  ต่อมามีพระอรัญวาสี ๒ รูป ชื่อพระพุทธโกษีย์และพระธรรมรูจี กับสามเณรรูปหนึ่งมานั่งวิปัสสนาในถ้ำ  ขณะที่นั่งวิปัสสนาอยู่นั้น หินใหญ่ชั้นบนเคลื่อนตัวดังกึกก้อง  แต่ภิกษุและสามเณรยังนั่งวิปัสสนาไม่ยอมลุกจากที่ ในวันที่ ๗ หินก็พังลงมาทับ ทั้งหมดจึงมรณภาพอยู่ในถ้ำ หลังจากนั้นชาวบ้านก็ก่อพระพุทธรูปเป็นที่ระลึกสำหรับพระและสามเณรนั้นไว้ในถ้ำ ให้ชื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เป็นพระพุทธโกษีย์ พระธรรมมรูจี สามเณรศรีไกรศร เมื่อถึงวันธรรมสวนะ พุทธบริษัทเหล่านั้นก็จะนำข้าวปลาอาหารมาถวายพระพุทธรูปเป็นกิจวัตร
     จากตำนานและประวัติของวัดนี้ พระภิกษุสวัสดิ์ เทว มิตฺโต รักษาการแทนเจ้าอาวาส ใน พ.ศ. 2516 ได้มอบหมายให้นายชัย จันรอดภัย แต่งเป็นคำกลอนขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินในการสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์ ดังตัวอย่าง เช่น
               กล่าวถึงพระภิกษุและสามเณรนั่งวิปัสสนาอยู่ในถ้ำ ว่า
     พวกเสือสิงห์ลิงค่างบ่างชะนี            กระจงมีมากมายใกล้คูหา
     สามนักบวชประกวดวิปัสสนา           ท่านเดินมาอาศัยในถ้ำทอง
     หนึ่งพระพุทธโกษีย์มณีเนตร             เรียนไตรเพทย์บำเพ็ญตนไม่หม่นหมอง
     ในท้องถ้ำกรวดทรายรายเป็นกอง    พระท่านลองปฏิบัติอรรถธรรม
               องค์ที่สองพระธรรมรูจี            ถือขันตีวิเวกทางเนกขัม
     สมาธิ มีสัจปฏิบัติธรรม                     มิได้ลำเอียงออกนอกวินัย
     องค์ที่สามสามเณรศรีไกรสร            ห่มจีวรย้อมฝาดสามารถใหญ่
     ได้พากเพียรเรียนธรรมจนจำใจ        เข้าอยู่ในถ้ำลากับอาจารย์

     ตาหมอเหลียนกับศรีนังกรี เรื่องนี้เป็นนิทานอธิบายสถานที่ เล่ากันในแถบอำเภอปะเหลียน ความว่า ครั้งหนึ่งมีช้างสำคัญองเจ้าเมืองชื่อช้างราชาแตกปลอกหายไป เจ้าเมืองเรียกควาญช้างชื่อตาหมอเหลียนให้ตามหาช้างกลับคือให้ได้ ถ้าไม่ได้จะถูกลงโทษประหารตาหมอเหลียนแกะรอยช้างราชามาแรมเดือน จนไปถึงที่บ้านนาในร่อน ตำบลปะเหลียน ซึ่งมีครอบครัวหนึ่งอาชีพทำนา เลี้ยงควายฝูง หัวหน้าครอบครัวชื่อนังศรีนังกรี ตาหมอเหลียนมาพบศรีนังกรีกำลังไล่ความเหยียบนา จึงถามว่าเห็นช้างผ่านมาทางนี้บ้างไหม ศรีนังกรีไม่ตอบคำถาม แมว่าจะถามซ้ำอีกหลายครั้งก็ยังไม่ตอบ ตาหมอเหลียนเริ่มโมโหจึงปักตะขอช้างลงบนคันนา แล้วขึ้นนั่งบนปลายตะขอเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ข่มขวัญ ศรีนังกรีเห็นดังนั้นก็ใช้ไม้หมกไล่ควาย (ไม้เรียว) ปักลงแล้วขึ้นนั่งบนปลายไม้บ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งสองก็รู้เชิงกันว่าต่างฝ่ายต่างมีอาคมแก่กล้า จึงสัญญาเป็นมิตรกัน
     จากนั้นตาหมอเหลียนก็แกะรอยตามช้างราชาต่อไปจนถึงทางน้ำแยกเป็นสองแพร่งชื่อว่าลำปลอก แล้วแยกไปทางหนึ่งจึงได้พบช้างราชานอนอยู่ในพรุใหญ่ ตาหมอเหลียนจะเรียกร้องอ้อนวอนหรือใช้คาถาอาคมอย่างไรชางก็ไม่ยอมขึ้นจากพรุ จึงตัดสินใจกระโดดขึ้นนั่งคร่อมหลังช้าง ชักมีดหมอออกมากระหน่ำแทงและผ่าท้องจนช้างราชาขาดใจตายอยู่ในพรุ เมื่อฆ่าช้างตายแล้ว ตาหมอเหลียนก็ไม่กลับบ้านเดิมเพราะรู้ว่าจะต้องถูกโทษประหารชีวิต จึงปักหลักตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านศรีนังกรีเพื่อนเกลอ
     สถานที่ตามนิทานนี้อยู่ในตำบลปะเหลียน ทำให้เข้าใจกันว่าชื่อบ้านปะเหลียนมาจากชื่อตาหมอเหลียน ที่เรียกว่า ปะ แปลว่า พ่อ เป็นภาษาที่ใช้ในกลุ่มมุสลิม แสดงว่าตาหมอเหลียนเป็นที่เคารพนับถือเหมือนพ่อของกลุ่มคนแถบนั้น ส่วนพรุที่ช้างตายต่อมาได้ชื่อว่า พรุราชา ตามชื่อช้าง
     ศรีนังการีและตาหมอเหลียนมีสัญญาต่อกันว่า ถ้าศรีนังกรีตายให้ฝังศพไว้ทางต้นน้ำเหนือจากบ้านตาหมอเหลียน เพราะศรีนังกรีเป็นมุสลิมเกรงว่าจะมีการนำเนื้อหมูมาล้างในลำคลองให้แปดเปื้อนถึงที่ฝังศพได้ เมื่อตาหมอเหลียนตายก็ฝังศพไว้ทางใต้ของลำน้ำ ปัจจุบันยังมีสถานที่ซึ่งชาวบ้านกล่าวว่าเป็นเปรวหรือที่ฝังศพของทั้งสองรวมทั้งพรุราชาอยู่ในบริเวณตำบลปะเหลียน พื้นที่เหล่านี้อยู่ในการดูแลรักษาขององค์การบริหารส่วนตำบลปะเหลียน
     ชาวบ้านในแถบตำบลปะเหลียนและใกล้เคียงยังคงมีความเชื่อถือศรัทธาต่อตาหมอเหลียนและศรีนังกรีว่าเป็นทวดศักดิ์สิทธิ์ มาบนบานศาลกล่าวให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ร้อนอยู่เสมอ รวมทั้งมโนราห์ หนังตะลุง ที่เดินทางผ่านที่ฝั่งศพก็ต้องหยุดสักการะ มิฉะนั้นอาจจะมีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง นิทานเกี่ยวกับสถานที่และความเชื่อที่คล้ายคลึงกับเรื่องตาหมอเหลียนนี้ยังมีอยู่ที่อื่นๆ อีก เช่น เรื่องตาหมอช่องที่อำเภอนาโยง เป็นต้น

     ตาพันวังยายคำพลี เป็นนิทานอธิบายสถานที่ กล่าวว่า มีสองสามีภรรยาชื่อตาพันวังและยายคำพลี ปลูกเรือนอยู่ริมชายคลองปะเหลียนบริเวณบ้านท่าพญา วันหนึ่งสองตายายพบเศษทองถูกน้ำพัดมาตกหล่นอยู่บริเวณท้องคลองหน้าบ้าน เมื่อลองเดินทวนน้ำขึ้นไปก็พบเศษทองเรื่อยๆ จึงกลับไปเตรียมตัวออกจากบ้านไปหาทอง เมื่อลองเดินทวนลำน้ำขึ้นไปก็พบเศษทองเรื่อยๆ จึงกลับไปเตรียมตัวออกจากบ้านไปหาทอง เดินทวนลำน้ำขึ้นไปหลายวันจนไปพบวังน้ำริมหน้าผาสูงชันแห่งหนึ่ง ในวังมียอดภูเขาสูงเรียวโผล่ขึ้นมาเรี่ยๆ น้ำ ปลายยอดนั้นเป็นทองคำ สองตายายจึงช่วยกันเลื่อยทองจนเกือบจะขาด พอดีพลบค่ำเสียก่อน จึงหยุดพักสร้างที่พักนอนริมหน้าผา วันรุ่งขึ้นพบว่ารอยเลื่อยนั้นติดกันสนิทเหมือนเดิม สองตายายก็ไม่ย่อท้อชวนกันลงมือเลื่อยต่อจนพลบค่ำก็ไม่ขาดเหมือนเดิม เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน สองตายายก็ไม่ละความพยายาม วันแล้ววันเล่าที่ช่วยกันเลื่อย ในที่สุดทั้งสองก็เสียชีวิตอยู่ตรงหน้าผา หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นทองในวังนี้อีกเลย แต่คนรุ่นหลังที่ฟังนิทานเรื่องนี้ก็พากันสันนิษฐานว่าชื่อปะเหลียนมาจากการพบทองในวังน้ำ เพราะ ปะ แปลว่า พบ เหลียน มาจากคำว่า ล่อเหลียน หมายถึงลักษณะที่โผล่ขึ้นมาเรี่ยๆ น้ำ จากเรื่องเล่านี้ทำให้เกิดคำพูดว่า ปะทองล่อเหลียน ในที่สุดหดสั้นเป็น ปะเหลียน

     วังโสะ วังโสะเป็นชื่อวังน้ำ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเดิมวังน้ำแห่งนี้กว้างใหญ่และลึกมาก ใต้น้ำมีเพิงหินเป็นถ้ำ เป็นที่อยู่ของปลาตูหนาตัวใหญ่มากๆ บางแห่งเล่าว่าโตขนาดหูเท่ากระด้ง ครั้งหนึ่งพวกเงาะป่าซาไกคิดจะตกปลาตูหนาตัวนี้ จึงเอาเหล็กมาโค้งงอทำเป็นเบ็ด ใช้หวายกำพวนทั้งลำโตขนาดด้ามพร้าเป็นสายเบ็ด และใช้ลูกคุรำหรือเลียงผามาเกี่ยวเบ็ดเป็นเหยื่อ ผูกเบ็ดไว้กับต้นโสะ ปรากฏว่าเมื่อปลาตูหนาขึ้นมากินเหยื่อก็สามารถดึงสายเบ็ดจนต้นโสะซึ่งโตขนาดต้นมะพร้าวเอนจนเกือบจะล้มลงไปในวังน้ำ และคาบเอาลูกคุรำไปกินโดยไม่ติดเบ็ด วังน้ำแห่งนี้ต่อมาได้ชื่อว่าวังโสะ ปัจจุบันอยู่ที่คลองปะเหลียนในบริเวณเดียวกับวังน้ำในเรื่องตาพันวังยายคำพลี

     โตนเต๊ะ โตน เป็นคำท้องถิ่นหมายถึงน้ำตกสูง เตะ เป็นคำกริยาที่ใช้เท้าแสดงอาการ จากเรื่องเล่ามีว่า ครั้งหนึ่งมีฝนตกหนัก ทำให้น้ำหลากลงมาจากภูเขา พร้อมกับพัดพาเอากุ้งปลาลงมาด้วยมากมาย ชาวบ้านต่างเอาไซไปดัก มีหนุ่มมุสลิมคนหนึ่งไปดักไซด้วย แต่ยกขึ้นมาทีไรไม่เคยติดปลาเลย ได้แต่กุ้งตัวเล็กๆ ตัวเดียว ทั้งที่คนอื่นได้ปลากันคนละมากๆ ชายหนุ่มโมโหสุดขีด ยกไซขึ้นมาแล้วเตะโด่งจนไซลอยไปตกบนยอดภูเขาแห่งหนึ่ง เขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่าเขาไซ ส่วนน้ำตกนั้นได้ชื่อว่าโตนเตะ ภายหลังเขียนเป็นโตนเต๊ะ สถานที่ทั้ง ๒ แห่งตามตำนานนี้อยู่ในตำบลปะเหลียน

 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 67606
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย