IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT

มรดกธรรมชาติ - สัตว์

ในพื้นที่จังหวัดตรังมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 เขต และเขาห้ามล่าสัตว์ป่า 3 เขต ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเป็นป่าดงดิบชื้น รวมลงมาถึงป่าผสมภูเขาหินตามเขาหินปูนโดด จนถึงเขตทะเลและชายฝั่ง เป็นที่อยู่ของสัตว์มากมายหลายชนิด รวมทั้งบรรดาสัตว์สงวนที่ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่และที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังมีผู้เคยได้เห็นในอดีต และร่วมกันถ่ายทอดเพื่อบันทึกไว้เป็นมรดกทางความทรงจำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ มีดังต่อไปนี้
     เลียงผา เรียกชื่อตามชาวบ้านว่า คุรำ คูรำ หรือโครำ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capricornis sumatraensis รูปร่างคล้ายแพะ ต่างกันแต่เลียงผาไม่มีเคราอย่างแพะ สีดำตลอดลำตัว มีเขาเป็นรูปกรวยโค้งไปข้างหลัง มีนิสัยชอบกระโดด ปีนป่ายไปตามหน้าผาหิน เลือกกินใบไม้อ่อนๆ เป็นอาหาร ซึ่งมีหลายชนิด เช่น เหยื่อคุรำ เป็นไม้ล้มลุก มีผู้นิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับด้วย อื่นๆ ก็มี เกล็ดมังกร และใบเข็มป่า เป็นต้น
แหล่งที่พบเลียงผา มีทั่วไปตามภูเขาที่มีไม้ซึ่งเป็นอาหารตามที่กล่าวข้างต้น เช่น บริเวณ เขาหินปูน บ้านหน้าเขาในวัง อำเภอรัษฎา เขาน้ำพราย ที่อำเภอห้วยยอด และเขาเจ็ดยอด ที่อำเภอปะเหลียน
     สาเหตุที่ทำให้เลียงผาเกือบจะสูญพันธุ์มีหลายประการ ที่สำคัญคือ การล่าเลียงผาเพื่อนำไปขายแก่บรรดานักเลงไก่ชนที่สรรหาเขาเลียงผามาครอบเดือยไก่ให้ชนชนะ อีกประการหนึ่งคือเพราะความเชื่อที่ว่ากระดูกและน้ำมันเลียงผาสามารถรักษาโรคปวดเมื่อยและกระดูกหักได้
     นอกจากเลียงผาแล้วตามสันเขาแห่งเทือกเขาบรรทัดยังมีสัตว์สงวนที่เข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากแผ่นดินตรัง คือ สมเสร็จ ซึ่งอยู่ตามบริเวณที่มีป่าไม้แคระของเขาเจ็ดยอด
      
     ปลาตูหนา มีตำนานชาวบ้าบกล่าวถึงปลาชนิดหนึ่งในแม่น้ำตรังว่ามีตัวใหญ่ขนาด หูเท่ากระด้ง ปลามีหูชนิดนี้คือปลาไหลหูดำ ปลาตูหนา ตุหนา หรือโตะหนา เรียก ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Anguilla bicolour และชื่อภาษาอังกฤษว่า True eel
     ปลาตูหนาเป็นปลา 2 น้ำ พบในแม่น้ำลำคลองทั่วๆ ไป จนไปถึงบริเวณต้นน้ำหรืออาจพบในทะเลลึก เพราะเมื่อปลาตูหนาเจริญเติบโตเต็มวัยจะต้องว่ายน้ำออกไปยังทะเลลึกเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ หลังจากนั้นเจ้าปลาวัยอ่อนก็ว่ายทวนน้ำตามสัญชาตญาณเดิมขึ้นมายังถิ่นเก่า จึงไม่แปลกที่ชาวเมืองตรังจะพบปลาตูหนาในคลอง ในแม่น้ำ ไปถึงยอดน้ำตก หรือในถ้ำ นอกจากที่ตรังยังมีข้อมูลว่ พบปลาตูหนาขึ้นไปถึงแม่ปายของแม่ฮ่องสอน และลุ่มน้ำสาละวินของพม่า
     ปลาตูหนาหูดำเนื้อนุ่มหวาน ชาวบ้านนิยมแกงส้มใส่ส้มจังกระ เล่ากันว่าเป็นอาหารโปรดของพระยารัษฎาฯ อดีตเจ้าเมืองตรัง ยามไปเยี่ยมราษฎรถ้ามีแกงส้มตูหนามาต้อนรับต้องใส่ส้มจังกระ เวลานี้ในหมู่บ้านชนบทของตรังมีต้นส้มจังกระแก่ๆ เหลืออยู่น้อยแล้วน้อยพอๆ กับปลาตูหนาที่ราคาแพงขึ้น และเปลี่ยนไปเป็นผัดเผ็ดหรือต้มยำอยู่ในจานอาหารของภัตตาคาร
     ในป่าต้นน้ำ ตามสายห้วยลำธารที่อุดมด้วยปลานานาชนิด ชาวบ้านมักกล่าวขานถึง ปลาหวด ปลาแห่งป่าต้นน้ำที่เคยจับได้ตัวโตๆ ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว
     ในแม่น้ำตรังยังมีปลาหลายชนิด ที่เห็นอยู่มากที่สุดคือ ปลากด ซึ่งมีตลอดแม่น้ำ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ตัวเล็กลงมาก อันที่จริงปลากดจะมีอยู่ทั่วไปตามสายห้วยลำคลองแห่งที่ราบลุ่มตรังนา ปลากดที่นับว่ารสดีที่สุดคือปลากดเหลือง ชาวบ้านเรียกว่า ปลากดขมิ้น
      
     กุ้งแม่น้ำ เมื่อ 30 ปีย้อนหลังขึ้นไป ตามบริเวณฝั่งแม่น้ำตรังตั้งแต่ท่าจีน อำเภอเมืองลงมาถึงอำเภอกันตัง ภาพชาวบ้านหิ้วพวงกุ้ง ปลา มารอรถริมถนนเพื่อเอาไปขายในเมือง มีให้เห็นแทบทุกเช้า และนี่คือที่มาของสำนวน กุ้งสิบร้อยคล้า กุ้งห้าร้อยจาก
     กุ้ง ที่ชาวบ้านหิ้วมานั้น คือกุ้งก้ามกราม แต่ลูกแม่น้ำตรังเรียกง่ายๆ ว่า แม่กุ้งเพราะแต่ละตัวอาจโตถึงขนาดเท่าท่อนแขน แม่กุ้งตัวงามๆ พวงหนึ่งร้อยได้ 4-5 ตัว ตัวย่อมลงมาร้อยได้พวงละ 9-10 ตัว สมัย พ.ศ. 2505 ขายพวงละ 10 บาท บริเวณที่กุ้งตัวโตที่สุดจะเป็นแถบย่านซื่อถึงควนทองสี เพราะเป็นรอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย ชาวบ้านเรียกน้ำปะเหยา หรือน้ำเหยา มีป่าจากเป็นตัวบ่งบอก ชาวบ้านแถบนี้จับกุ้งได้ก็ร้อยกุ้งด้วยก้านจากเศษวัสดุเหลือจากเอาไปทำใบมวนยาแล้ว ได้แม่กุ้งห้าตัวก็เต็มพวง เป็น กุ้งห้าร้อยจาก ส่วนเหนือตั้งแต่บินหยี ควนธานี ขึ้นไป น้ำเริ่มจืด ไม่มีต้นจากใช้เปลือกต้นคล้ามาร้อยแทน กุ้งก็เล็กลงด้วย พวงหนึ่งได้เก้าตัวสิบตัว เรียกกันว่า กุ้งสิบร้อยคล้า
      
     หอยปะ หอยปะเป็นหอย 2 ฝ่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Meretrix Lusoria ที่อื่นอาจเรียกว่า หอยขาว หรือหอยตลับลาย
     ที่หมู่บ้านปากน้ำปะเหลียน ฝั่งตะวันออกตั้งแต่บ้านหินคอกควาย ฝั่งตะวันตกตั้งแต่บ้านวังวนลงไป บ้านเรือนสองฝั่งมีเปลือกหอยปะทับถมนับล้านๆ ตัว บ่งบอกถึงทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนาน เพราะในร่องน้ำระหว่างสองฝั่งมีเกาะเล็กๆ ชื่อเกาะหอไหร้ ซึ่งปกคลุมด้วยป่าชายเลน เมื่อน้ำขึ้นจะท่วมไปทั้งเกาะ ครั้นพอน้ำลงจะเห็นแนวทรายเป็นบริเวณกว้าง ที่ตรงนี้คือแหล่งหอยปะขนาดใหญ่ อาจจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็เป็นได้ ส่วนด้านปากน้ำตรังก็มีแหล่งหอยปะตั้งแต่บริเวณสถานีวิจัยนิเวศวิทยาป่าชายเลน หมู่บ้านโต๊ะหร้าไปถึงเกาะเคี่ยม และทะเลด้านนอกจนถึงแหลมจุโหย เกาะลิบง ปริมาณหอยด้านนี้น้อยกว่าด้านแม่น้ำปะเหลียน
     แต่เดิมการหาหอยนั้นชาวบ้านเรียกว่า คุ้ยหอย โดยใช้เท้าเขี่ยและมือเก็บ ถ้าเป็นนักหาหอยขาย วิธีการที่ใช้ คือ ถีบกระดาน ครั้นเมื่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเลเริ่มซื้อหอยปะเข้าโรงงาน วิถีดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป มีการใช้เรือและเครื่องมือคราดที่เก็บได้จำนวนมาก เดิมเคยเลือกเฉพาะหอยตัวใหญ่มากินมาขาย ก็กลายเป็นเก็บกวาดขึ้นมาหมดทั้งตัวเล็กตัวน้อย เพื่อลงกะทะต้มและส่งขายเป็นกิโล เปลือกหอยที่ซ้อนทับกันมานานปีจึงเริ่มเล็กลง ตามจำนวนชั้นที่เพิ่มขึ้น
     เป็นที่น่าดีใจว่า ชาวบ้านตามหมู่บ้านชายฝั่ง ได้แก่ บ้านแหลม วังวน อำเภอกันตัง บ้านหินคอกควาย อำเภอปะเหลียน ทุ่งตะเซะ ท่าบันได อำเภอย่านตาขาว ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลนบนเกาะหอไหร้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 โดยมีสมาคมหยาดฝน องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้ประสานความร่วมมือ กิจกรรมนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น การรักษาป่าชายเลนบริเวณนี้ไว้นับเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำรวมทั้งหอยปะรอบๆ เกาะ และยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างความสัมพันธุ์ระหว่างผู้คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน แบ่งสรรปันใช้ให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนต่อไป เปลือกหอยปะชั้นบนสุดตามริมฝั่งและลานบ้านของชุมชนเหล่านี้คงจะโตขึ้นเท่าที่เคยเป็นในชั้นล่างสุด
      
     หอยนางรม ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crassostrea commerciallis ภาษาอังกฤษเรียก oyster ชาวบ้านเรียกว่าหอยแตะหรำ คำนี้ยังเป็นชื่อหมู่บ้านในอำเภอกันตัง คำว่า แตะหรำ มาจาก ติรัม ภาษามลายู แปลว่า หอยบริเวณปากแม่น้ำปะเหลียนโดยเฉพาะตรงบ้านแหลมเป็นแหล่งหอยนางรมธรรมชาติที่ใหญ่มากแหล่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นหอยสีขาวที่มีคุณภาพซึ่งราคาดีมาก แต่ด้วยการเก็บเกี่ยวเพื่อขายมากขึ้นทำให้หอยลดน้อยลงทุกที เมื่อต้นปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้ง
     กลุ่มอนุรักษ์หอยนางรม โดยมีการวางทุ่นกั้นอาณาเขต 150,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และกันพื้นที่อีกส่วนหนึ่ง 75,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ใช้สอยให้ชาวบ้านจับหอยขายเพื่อเลี้ยงชีพได้โดยมีข้อแม้ว่าจะไม่ใช้เครื่องทุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนในพื้นที่อนุรักษ์ให้เป็นประโยชน์รวมของชุมชน ทุกปีจะมีการจับหอยที่ได้ขนาดประมูลขายเพื่อเอาเงินมาพัฒนาหมู่บ้าน
      
     หอยหลอด ชาวบ้านเรียกหอยชนิดนี้ว่าหอยยอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Solen strictus Gould. พบมากที่บริเวณชายหาดสำราญของกิ่งอำเภอหาดสำราญ
     ชาวบ้านมีวิธีหาหอยหลอดแบบง่ายๆ คือสังเกตดูว่ามีมูลหอยอยู่ที่ใด เมื่อพบให้ใช้ส้นเท้าย่ำลงบนพื้นดินตรงนั้น ถ้ามีหอยอยู่ รูหอยจะเปิดขึ้นพร้อมกับที่หอยบ้วนน้ำ การจับหอยต้องใช้ก้านมะพร้าวอันเล็กๆ กัดปลายให้แตกบานออกเล็กน้อย เพื่อให้ติดน้ำยาซึ่งทำด้วยปูนขาวผสมพริกชี้ฟ้าตำละเอียด ละลายน้ำให้ข้นๆ เอาก้านมะพร้าวจุ่มน้ำยาแหย่ลงไปในรู หอยทนพิษยาไม่ไหวก็จะขึ้นมาให้เห็นจนถึงขึ้นมาได้
     ชาวบ้านหาดสำราญกล่าวว่า หอยหลอดที่นี่มีมานานแล้ว แต่ครั้งหนึ่งเคยหายไปหลายปี เพราะมีอวนรุนเข้ามากวาดบริเวณหน้าดิน เมื่อทางการได้ปราบปรามอวนรุนไประยะหนึ่ง ทำให้หอยหลอดเกิดขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการเข้มงวดกวดขันเรื่องการจับหอยด้วยการใช้น้ำยา เพราะต้องการจะรักษาหอยหลอดแห่งหาดสำราญให้มีอยู่อย่างยั่งยืน
      
     หอยตะเภา เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปในท้องถิ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Donax scortum Linn. มีชื่อพ้องว่า Hecuba scortum Linn. บริเวณที่พบหอยตะเภามากที่สุดคือที่หาดปากเมง อำเภอสิเกา ที่หาดสำราญก็มีบ้าง บริเวณที่มีหอยตะเภามักจะพบหอยเจดีย์หรือหอยหลักไก่อาศัยอยู่ด้วย
     ลักษณะทั่วไปของหอยตะเภาเป็นหอยสองฝา หรือหอยกาบคู่ ผิวนอกของเปลือกมีสีเขียวอมเหลือง บางตัวสีค่อนข้างคล้ำ เป็นรูปสามเหลี่ยมท้ายงอนขึ้น เปลือกฝาซ้ายและขวาเท่ากัน และฝาทั้งสองข้างประกบกันสนิทเปลือกด้านในจะมีสีม่วงอ่อน
     หอยตะเภาเป็นหอยที่ฝั่งตัวอยู่ใต้พื้นทรายซึ่งเป็นทรายปนโคลน ตามบริเวณชายหาดที่มีพื้นที่ลาดชันเล็กน้อย หอยพวกนี้จะมีท่อน้ำซึ่งอยู่ทางตอนท้ายยื่นยาวขึ้นมาเหนือพื้นทรายเพื่อหายใจและกินอาหาร การหาหอยตะเภาจะหาพบได้ตลอดปีแต่มีปริมาณมากน้อยต่างกัน กล่าวคือ จะพบว่าจำนวนเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม และพบมากในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมซึ่งช่วงนี้จะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ หลังเดือนมกราคมจะมีขนาดเล็กและปริมาณน้อยลง พอถึงปลายเดือนเมษายนไปจนถึงกันยายนเป็นช่วงมรสุมคลื่นจัด หอยจะอพยพไปอยู่บริเวณที่ลึก ช่วงที่เก็บหอยได้ดีคือช่วงเวลาน้ำเกิดหรือน้ำใหญ่ ระหว่างขึ้นหรือแรม 13 ค่ำถึงขึ้นหรือแรม 3 ค่ำ เพราะน้ำจะลงมากจนมองเห็นหาดทรายกว้างยาวสุดสายตา
     จิโรจน์ พีระเกียรติขจร ผู้ศึกษาเรื่องชีววิทยาการสืบพันธุ์ของหอยตะเภา บริเวณอำเภอสิเกา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2534 ถึงเดือนมกราคม 2535 มีข้อเสนอแนะหลายข้อเกี่ยวกับการอนุรักษ์หอยตะเภา เช่น ควรทำการทดลองเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงหอยตะเภาเพื่อเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ ห้ามเก็บหอยในฤดูการวางไข่ และประกาศเขตห้ามเก็บไว้บางส่วน ห้ามกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยตะเภา
     ที่ผ่านมามีภาคเอกชนของจังหวัดตรังได้จัดเทศกาลเก็บหอยตะเภาในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่า หอยตะเภาที่เก็บได้ในแต่ละปีมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในเทศกาลนึ้จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์หอยตะเภาที่แท้จริง
     
     ปลิงทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ Holothuria atra เป็นสัตว์ตัวสีดำแกมเทา ถ้าพลิกท้องจะเห็นเป็นสีขาว รูปร่างทรงกระบอก ยาวประมาณ 5-6 นิ้ว มีปากช่องขับถ่ายอยู่ที่ส่วนหัวและส่วนหาง ผิวขรุขระรอบตัว ฝังตัวอยู่ตามโคลน ทราย หรือตามกอหญ้าทะเล บางทีก็ถูกคลื่นซัดขึ้นมาอยู่ตามชายหาด พบมากตามเกาะต่างๆ ทั้งเกาะลิบง เกาะมุก และเกาะสุกร ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปลิงทะเลตากแห้งจากเกาะลิบงเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง
     ปัจจุบันการทำปลิงทะเลแห้งรมควันยังมีอยู่ที่เกาะลิบง วิธีทำคือ ต้องนำปลิงทะเลมาบีบไส้ออกแล้วนำไปต้มจนสุก นำกลับไปตากลมจนแห้งแล้วฝังทรายไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงขูดผิวด้วยไม้ไผ่และล้างให้สะอาด สุดท้ายนำไปรมควันจนแห้งสนิท ปลิงทะเลรมควันมีราคาค่อนข้างสูง กล่าวกันว่ามีสรรพคุณในทางบำรุงกำลัง เป็นที่นิยมของคนจีน ใช้ทำอาหารประเภทน้ำแกง หรือผสมลงในหูฉลามน้ำแดง
     
     แหล่งนก จังหวัดตรังมีแหล่งนกที่นักดูนกรู้จักกันดี โดยเฉพาะที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง นับเป็นแหล่งนกอพยพจากแดนไกลแหล่งใหญ่ที่สุดในฝั่งทะเลตะวันตก นอกจากนี้ยังมีแหล่งนกประจำถิ่นอีกหลายแห่ง เช่น วังนกน้ำ อำเภอวังวิเศษ อุทยานนกน้ำคลองลำชาน สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์หรือสวนสาธารณะทุ่งน้ำผุดของเทศบาลเมืองตรัง สระกะพังสุรินทร์ ทะเลสองห้อง ที่น้ำตกร้อยชั้นพันวังนั้นเป็นแหล่งของนกแต้วแร้วทองดำที่เขาหลักตำบลน้ำผุดจะมีนกเงือก ส่วนตามป่าโปร่งเชิงเขาแถบบ้านหาดเลา แหลมสอม และป่าดงใกล้เคียง จะมีเสียงเพลงเซ็งแซ่จากนกบินหลา หรือนกกางเขน และนกกรงหัวจุก หรือนกปรอด ต่อมานกเหล่านี้ถูกจับไปอยู่ในกรงตามบ้านนักนิยมทั้งในเมืองตรังและต่างจังหวัด เสียงเพลงจากนกน้อยจึงแผ่วลงทุกวัน
     ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบงที่หาดตูบตรงบริเวณหัวแหลมจุโหย จะกลายเป็นหาดเมื่อน้ำลงและแปรสภาพเป็นเกาะเมื่อน้ำขึ้น คือแหล่งชุมนุมนกอพยพจากแดนไกลที่นักดูนกเฝ้าคอยมาดูกันทุกปี นกย้ายถิ่นจะเริ่มทยอยมารวมกันตั้งแต่เดือนธันวาคม หากินอยู่สักพักหนึ่งก็ทยอยกลับไป จะหมดราวๆ เดือนเมษายนพร้อมกับที่ทะเลย่างเข้าสู่มรสุมเท่าที่พบและมีชื่อในบันทึกของนักดูนก ได้แก่ นกอีก๋อยเล็ก นกอีก๋อยใหญ่ นกหัวโตกินปู นกกินเปี้ยว นกหัวโตหลังจุดสีทอง นกหัวโตทรายเล็ก นกปากแอ่นหางดำ นกนางนวลแกลบ นกกระสาคอดำ เป็นต้น
     พรุใหญ่หน้าเขาพระวิเศษ เรียกชื่อว่า วังนกน้ำ อยู่ในหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 17 ตำบลวังวิเศษ เต็มไปด้วยต้นเสม็ด กก ปรือ และเป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำจำนวนนับพันๆ ตัว
     จากพรุที่อาจมีอายุนับร้อยนับพันปี ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2537 จากดำริของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีสำนักชลประทานที่ 12 เป็นผู้รับผิดชอบในการขุดลอกบางส่วนจนกลายเป็นบึงใหญ่ๆ 2 บึง บึงหนึ่งมีป่าพรุเป็นเกาะกลางให้เหล่านกเป็ดน้ำได้อาศัย อีกบึงหนึ่งคือบึงน้ำล้วนๆ ที่ขุดสายคลองเพิ่มเติมเพื่อให้เชื่อมต่อกับคลองชี อันเป็นคลองสายหลักเส้นเลือกของชาววังวิเศษทั้งสองบึงนี้มีถนนวนโดยรอบเชื่อมต่อกันได้
     วังนกน้ำวันนี้คือมรดกธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นที่ตั้งค่ายพักแรมของเหล่าลูกเสือ เป็นสถานที่ประลองความเร็วของฝีพาย แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือจำนวนนกเป็ดน้ำนับฝูงได้เป็นร้อยและนับตัวได้เป็นพัน ยังคงเกาะกลุ่มอยู่กลางเกาะและบินขึ้นบินลงอย่างเป็นสุขเสรีโดยไม่มีใครกล้ามาทำร้าย เพราะกฎของหมู่บ้านมีไว้ว่า ถ้าผู้ใดทำร้ายนกจะถูกปรับตัวละห้าพัน
     หน่วยงานของกรมป่าไม้ที่ตั้งอยู่ตรงหมู่ที่ 6 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ18 กิโลเมตร ตามถนนสายเพชรเกษมช่วงตรัง-พัทลุง แยกที่บ้านถนนคดคืออุทยานนกน้ำคลองลำชาน คลองลำชาน เป็นที่รวมของลำน้ำหลายสายจากเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านตำบลช่องและใกล้เคียงร่วมกันจัดทำทำนบกั้นน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแอ่งใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยทำรังของนกหลายชนิด ที่มีมากที่สุดคือเหล่านกเป็ดน้ำ

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 21287
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย