IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT

มรดกธรรมชาติ - ถ้ำ

ในเขตพื้นที่ลอนลูกฟูก มีผลงานสร้างสรรค์ของธรรมชาติทำให้เกิดเขาหินปูนกระจายอยู่ในเขตเขาจนลงมาถึงกลางทุ่งของเมืองตรัง เบางลูกถูกน้ำกัดเซาะอย่างต่อเนื่องกลายเป็นโพรงประดับประดาด้วยหินงอกหินย้อยงดงาม บางแห่งมีสายน้ำคดเคี้ยวไปตามโพรง บางแห่งเป็นแหล่งโบราณคดี บางแห่งได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
      
     ถ้ำเขาช้างหาย ภูเขาขนาดย่อมกลางทุ่งนากว้าง ที่มองเห็นอยู่ในหมู่ที่ 5 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง ห่างจากลาดนาโยง 5 กิโลเมตร คือที่ตั้งของถ้ำนี้
     ชื่อถ้ำเขาช้ายหายมาจากตำนานสมัยเมื่อบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช กล่าวถึงขบวนผู้คนที่เดินทางไปร่วมพิธี และลูกช้างในขบวนหายเข้าไปในถ้ำจนหาไม่พบ ภายในถ้ำประกอบไปด้วยถ้ำเล็กถ้ำน้อยติดต่อถึงกัน บางตอนมีแอ่งน้ำใสเย็นอยู่กลางถ้ำ แต่ละถ้ำตั้งชื่อไว้งดงามตามลักษณะ เช่น ถ้ำเพกา ถ้ำทรายทอง ถ้ำโอ่ง ถ้ำลม เป็นต้น ด้านตะวันตกมีห้วยน้ำใสไหลลอดออกมาจากใต้ถ้ำและเป็นแหล่งปลาน้ำจืดธรรมชาติที่มีปลาอยู่มากมาย
      
     ถ้ำเขาพระวิเศษ อยู่ในพื้นที่อำเภอวังวิเศษ ตำบลเขาวิเศษ เป็นที่ตั้งของเขาสำคัญลูกหนึ่ง ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับพระพุทธรูปและทรัพย์สมบัติตามลายแทงอันทรงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จนชาวบ้านเรียกชื่อว่า เขาพระวิเศษต่อมาเสียงสั้นลงเป็น เขาวิเศษ ปัจจุบันเหลือเพียงค่ำว่า เขาเศษ
     เขาพระวิเศษเป็นเขาสูงเด่นในกลุ่มเขาและควนย่อมๆ ที่รายล้อม ได้แก่ เขานุ้ย เขาเสือ ควนกลาง และควนลุงเซียว มีวังนกน้ำอยู่ทางด้านตะวันออก ที่วังนกน้ำเป็นหมู่ที่ 17 และติดเขตหมู่ที่ 6 บางส่วนด้วย เรียกชื่อว่าบ้านหน้าเขา ส่วนด้านะวันตกเป็นหมู่ที่ 6 เรียกบ้านหลังเขา เขาพระวิเศษอยู่ในหมู่ที่ 6 มีเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตรเชื่อกับถนนใหญ่สายนาวง-ต้นชด
     บริเวณเขาพระวิเศษทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ภายในมีถ้ำซับซ้อนหลายแห่ง ถ้ำที่รู้จักกันมาแต่เดิมคือถ้ำบนยอดเขา ซึ่งมีทั้งตำนานและโบราณวัตถุ ชาวบ้านเคยพบพระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูปไม้ก็มีแต่ผุพังไปเกือบหมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าว่า ที่ถ้ำเขาเสือใกล้ๆ กัน มีผู้พบเศษภาชนะดินเผาอีกด้วย หลักฐานเหล่านี้ชี้ความสำคัญของเขาพระวิเศษว่ามิใช่เป็นมรดกธรรมชาติเพียงด้านเดียว หากยังเป็นร่องรอยที่แสดงถึงประวัติศาสตร์เมืองตรังนานนับพันปี
     ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 กำนันตำบลเขาพระวิเศษและผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ได้เปิดปากถ้ำใหม่แห่งหนึ่งให้กว้างขึ้นเพื่อเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป ปากถ้ำใหม่นี้อยู่ทางด้านตะวันตกตรงกับวังนกน้ำ เดิมเป็นช่องเล็กๆ พอคนลอด สูงกว่าพื้นประมาณ 30 เมตร ในถ้ำเคยเป็นที่อาศัยของค้างคาว มีถ้ำน้อยใหญ่ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีบึงน้ำอยู่ตลอด
      
     ถ้ำทะเลเขากอบ ห่างจากตัวอำเภอห้วยยอด 8 กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษมสายตรัง-กระบี่ และมีทางแยกไปอีกประมาณ 700 เมตร ในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 10 ตำบลเขากอบ ภูเขาหินปูนโดด มีลำคลองโอบล้อมและไหลทะลุลอดภายใน คือ ถ้ำทะเลเขากอบ ที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า ถ้ำเล
     ลำคลองรอบถ้ำเลเชื่อมต่อกับทางถ้ำซึ่งมีถึง 7 ช่องทาง บางช่องเรือเข้าได้ บางช่องเป็นเพียงทางเดินเท้า ในเส้นทางที่เรือเข้าได้วกวนไปมา ความยาวไม่น้อยกว่า 4 กิโลเมตร นักล่องเรือลอดถ้ำมีจุดแวะขึ้นชมความงามของถ้ำใหญ่น้อยหลายจุด เช่น ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำรากไทร ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำเจ้าบ่าว ถ้ำเจ้าสาว เป็นต้น
     มรดกธรรมชาติที่โดดเด่นในถ้ำเขากอบ คือ หลอดหินย้อย (Soda Straw) นับแสนนับล้านประดับประดาอยู่ตามผนังถ้ำ บางตอนมีแสงแวววาวจากหยดน้ำตรงปลายแท่งเล็กๆ อันเปราะบาง แท่งเล็กๆ แต่ละอันนั้นธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างสรรค์กันนานนับปี
     เขากอบมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ ที่เป็นถ้ำมีเนื้อที่เกือบ 200 ไร่ ประมาณครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ ภายในมีน้ำขังตลอดปี บริเวณกอบทั้งภายในภายนอกเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด ทั้งปลาน้ำจืด กุ้ง หอย รวมไปถึงปลาตูหนา หรือปลาไหลหูดำ ซึ่งชุมนุมกันมากในถ้ำแห่งนี้จนได้ชื่อว่า ถ้ำปลาตูหนา และในถ้ำนี้ยังมีค้างคาวจำนวนมากอีกด้วย
     การบุกเบิกพัฒนาถ้ำเลนั้นเคยเริ่มมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีขุนกอบคีรีกิจเป็นผู้นำผู้บ้าน ระดมชาวบ้านช่วยกันขุดลอกคลองที่ตื้นเขินเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก หลังยุคขุนกอบฯถ้ำเลก็ร้างไปนาน มีการขุดลอกคลองอีกครั้งใน พ.ศ. 2527-2528
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 11207
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย